กลยุทธ์ 1+3 ในชุมชน

 

กลยุทธ์ 1+3 ในชุมชน
วิธีขยายสัมพันธ์เพื่อนบ้าน
โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

         โครงการบ้านเอื้ออาทรเพชรเกษม 81 เป็นชุมชนเมืองที่มีความหลากหลายสูง เนื่องจากผู้อยู่อาศัยมีที่มาแตกต่างกัน ต่างสังคม ต่างวัฒนธรรมในลักษณะร้อยพ่อพันแม่ ความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนใหม่เป็นเรื่องที่ต้องจัดการทั้งสิ้น เพื่อหลอมรวมให้เป็นวัฒนธรรมเดียวกัน ตรงกันข้ามหากปล่อยให้เป็นภาวะตัวใครตัวมัน ย่อมเป็นสังคมโดดเดี่ยว ไม่อาจเป็นที่พึ่งพาได้
         "เราใช้วีธีการที่เรียกว่า 1+3 เข้าจัดการ หมายความว่า ขยายความสัมพันธ์ของผู้อยู่อาศัยจากห้องของเรา ไปยังข้างห้อง เพื่อนข้างด้านซ้าย 1 ห้อง ด้านขวา 1 ห้อง และด้านหน้าอีก 1 ห้อง รวมแล้วเป็น 4 ห้อง ถ้าเพื่อนบ้านที่ห้องถัดไป เขารับแนวคิดนี้ก็จะขยายผลต่อยอดได้อีกเป็นลูกโซ่" นางกฤตพร สุวรรณา หรือ ครูไก่ ประธานกลุ่มออมทรัพย์โครงการบ้านเอื้ออาทรเพชรเกษม 81 และผู้จัดการสหกรณ์บริการเอื้ออาทรเพชรเกษม 81 เล่าถึงกลยุทธ์การขยายเครือข่ายเพื่อนบ้านในชุมชนที่มีผู้อยู่อาศัยมากกว่า 3,000 คน

         ตัวเธอเองก็ไม่ใช่คนในพื้นที่ หากเป็นครูสอนหนังสือเด็กและเป็นลูกหลานทหารมาจากสี่พระยา แรกๆ ก็ไม่รู้จักใครมากนัก อาศัยเมื่อเริ่มรับตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสหกรณ์ฯ เลยทำให้รู้จักสมาชิกในโครงการได้เร็วกว่า เมื่อเริ่มกลยุทธ์นี้อาศัยที่ว่าอยู่ที่นี่มา 10 ปี ตั้งแต่เริ่มเปิดโครงการในปี 2549 จึงง่ายเข้า โดยใช้วิธีการซึมซับไปเรื่อยๆ และขยายผลเป็นลูกโซ่
         "เวลาทำกิจกรรมก็คุยกัน การอยู่อาศัยต้องเอาคนใกล้ชิดเข้ามาช่วยดูแล ห้องหนึ่งไม่อยู่ ห้องข้างๆ จะทำหน้าที่ดูแลแทน เช่นถ้าฝนตก มีผ้าตากอยู่ข้างนอกเขาก็จะเข็นราวตากผ้าไปหลบฝนหรือเก็บผ้าให้ อีกคนไปต่างจังหวัดก็ฝากบ้านให้ห้องข้างๆ ช่วยเป็นหูเป็นตาแทน ซึ่งได้ผลนะ หลังจากทำมา 2 ปี"
         การสร้างความสัมพันธ์ในลักษณะ 1+3 เป็นความสมัครใจ ดังนั้นบางห้องหรือบางอาคารก็ยังไม่ทำ "แต่จะมีเหตุให้เขาต้องกลับมาทำได้เช่นกัน เช่น ห้องถูกงัด ข้าวของถูกขโมย ก็ต้องหาวิธีการจัดการ ซึ่งวิธีการ 1+3 นั้น ไม่ต้องใช้เงินเลย ใช้แค่ใจเป็นความสัมพันธ์"
         ครูไก่ ยอมรับว่า แรกๆ ชุมชนอย่างบ้านเอื้ออาทรมักมีปัญหายาเสพติด ถือเป็นพื้นที่สีแดง แต่หลังจากใช้หลายๆ กลยุทธ์ รวมทั้งความเข้มแข็งของนิติบุคคลก็ทำให้สถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ ทั้งเรื่องอาชญากรรม และความปลอดภัยในอาคาร โดยภายในอาคารก็มีการติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิดคอยกำกับเหตุ รวมทั้งเตรียมความพร้อมกรณีเกิดภัยพิบัติ

         สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ การเคหะแห่งชาติ ได้เข้ามาให้การสนับสนุนกลุ่มออมทรัพย์ โดยสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการปลูกผักอินทรีย์ ด้วยการฝึกอบรมและให้เมล็ดพันธุ์ ซึ่งทางกลุ่มพยายามเรียนรู้และประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่
         "อบรมแล้วก็ต้องมาทดลองทำและประยุกต์ใช้ เช่น จากตาข่ายสแลนมุงหลังคาก็เปลี่ยนมาเป็นพลาสติกใสแทน เพราะเมื่อต้นปีผักกำลังงาม ลมแรงพัดสแลนพัง ผักเน่าเสียหายหมด ปั๊มน้ำเดิมทีออกแบบสำหรับการปลูกชั้นเดียว เมื่อเราทำสองชั้นก็ต้องเพิ่มแรงดัน เครื่องก็ต้องเปลี่ยนไปใช้เครื่องที่มีแรงดันมากขึ้น เงินส่วนเกินจากงบประมาณก็ใช้เงินลงทุนเอง เช่นเดียวกับพันธุ์ผักที่ปลูกที่เป็นผักสลัด เราก็ปรับเปลี่ยนเป็นผักไทยแทน เช่น ผักบุ้งจีน ผักคะน้า"
         ครูไก่เล่าว่า ผักอินทรีย์เป็นรายการล่าสุดที่ลงมือทำซึ่งไม่เหนือความสามารถหลังจากลองผิดลองถูกอยู่พักหนึ่ง ที่ทำอยู่แล้วคือโรงเพาะเห็ดนางฟ้าภูฏานซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กลุ่มได้เป็นกอบเป็นกำ ขายได้ถึง 80 บาท/กิโลกรัม จากเริ่มต้นที่เคยขาดทุน แต่เมื่อฝึกฝนชำนาญก็ให้ผลผลิตสูง ทำกำไรได้ ก้อนเชื้อเห็ดเสาะหาจากแหล่งที่มีอายุยืนยาวถึง 7-8 เดือน จากทั่วไปเพียง 4-5 เดือน เท่ากับลดต้นทุนไปในตัว การขยายกำลังผลิตจาก 100 ก้อนตอนเริ่มต้น เป็น 2,000 ก้อนในปัจจุบัน เป็นเครื่องยืนยันว่ากิจการกำลังไปได้ด้วยดี
         ทั้งโรงเพาะเห็ดและแปลงปลูกผักอินทรีย์ จะทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนไปในตัว ลูกบ้านเองสามารถมาศึกษาดูกระบวนการปลูก ดูแล จนถึงเก็บเกี่ยวได้ และปลูกเองที่บ้านได้ ช่วยประหยัดและได้ผักคุณภาพไว้บริโภค หรือขายเป็นอาชีพเสริมหรือเป็นอาชีพหลักเลยก็มี อย่างคนที่ดูแลแปลงผักอินทรีย์ก็เป็นคนสูงอายุ 75 ปี
         กลุ่มออมทรัพย์ยังจัดหางานมาป้อนสมาชิกหลากหลาย อาทิ กลุ่มเย็บผ้าถุง กลุ่มทำเหรียญโปรยทาน กลุ่มนวดทั้งผ่อนคลาย รักษาอาการ กระทั่งบำบัดผู้เสพติดบุหรี่ เป็นการสร้างงานภายในชุมชนรูปแบบหนึ่ง

         ชุมชนขนาดใหญ่ 39 อาคาร 1,708 ห้อง จำนวนคนมากกว่า 3,000 คน กิจกรรมในชุมชนต้องมีความหลากหลาย ไม่เว้นกีฬาหรือการออกกำลังกาย มีทั้งการเต้นแอโรบิก แต่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดจะเป็นฟุตซอลที่จัดตั้งเป็นทีมๆ ละ 7 คน มีด้วยกันถึง 32 ทีม หมายถึงการมีสมาชิกเกินกว่าสองร้อยคนขึ้นไป มีการแข่งขันชิงรางวัลกันอย่างสนุกสนานและจริงจัง
         ด้านจิตใจ มีการจัดอบรมปฏิบัติธรรมสำหรับผู้สูงอายุและเยาวชน ด้วยการนั่งสมาธิที่สำนักสงฆ์นครปฐม ภายใต้การดูแลของวัดไร่ขิง ซึ่งมีสภาพบรรยากาศดีมาก เหมาะแก่การปฏิบัติอย่างยิ่ง

         ส่วนความร่วมมือในชุมชน ครูไก่กล่าวว่า เป็นลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมากกว่า คนส่วนใหญ่ยังเป็นประชากรวัยทำงาน บางคนเลย 60 ปี เช้าก็ยังออกจากบ้านไปทำงาน เวลาจัดกิจกรรมก็มาร่วมได้พักหนึ่งแล้วค่อยไปทำงานต่อ คนไหนมีแรงลงแรง คนไหนไม่มีแรง ไม่มีเวลา ก็ลงเงินช่วยเหลือกิจกรรมกันไป
         "จากชุมชนที่เริ่มต้นเมื่อ 10 ปีก่อน ต่างคนต่างมาจากหลากหลายที่ ตอนนี้ก็เริ่มรู้จักกัน มีกิจกรรมร่วมกัน จากที่เคยลำบากตอนมาอยู่ใหม่ๆ ไฟฟ้ายังไม่ได้ติดตั้ง เพราะอยู่ระหว่างขอ ก็รีบมาอาศัยอยู่กันแล้ว ถนนหนทางก็ไม่ค่อยสะดวก ผิดกับตอนนี้สะดวกไปทุกอย่าง"
         ความสุขของชุมชน ไม่อาจระบุด้วยปัจจัยหนึ่งปัจจัยใด หากยังครอบคลุมด้วยหลายปัจจัยที่สามารถเข้าถึงได้ สัมผัสได้ เป็นสภาพสุขภาวะที่ก้าวหน้าและมีศักยภาพในการพึ่งพาตนเองได้ดียิ่งขึ้น