ก.เกษตรฯขยายผล"ตากโมเดล"นำร่องปลูกพืช5ชนิดเพื่อการส่งออก!

 

 

เกษตรฯ เร่งแผนบูรณาการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกภาคเหนือ นำร่องพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิดใน 6 จังหวัด

          นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกภาคเหนือ นำร่อง 5 พืช  6 จังหวัด ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงใหม่ ว่าตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ณ จังหวัดสุโขทัย ให้เป็นเจ้าภาพบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและมติ ครม. ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย ผู้แทนจาก 6 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา เพชรบูรณ์ ตาก พิษณุโลก ประธานสภาอุตสาหกรรม 5 จังหวัด ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ผู้เชี่ยวชาญพืชส่งออกและผู้ส่งออก รวมถึงประธานและผู้นำกลุ่มเกษตรกร ที่สนใจเข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรต่างๆ พิจารณาหาแนวทางร่วมกันในการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ได้คุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด โดยเน้น การรวบรวมแผนงานโครงการเดิมที่มีอยู่ของแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งการเพิ่มเติมส่วนที่ขาดเพื่อบูรณาการไปสู่เป้าหมายโครงการเดียวกัน ทั้งเรื่องแผนงานการส่งเสริมการผลิตของเกษตรกร งานวิจัยและพัฒนา งบประมาณ นำมาหารือในรายละเอียดร่วมกันในระดับจังหวัด เพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนที่เหมาะสมต่อไป

 

          สำหรับการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกภาคเหนือดังกล่าว เป็นการขยายผลจาก ”ตากโมเดล” ที่ขับเคลื่อนเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก รวมทั้งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดด้านการเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ ทำให้เกิดกระบวนการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรเชิงอุตสาหกรรมเพื่อการค้าที่ปลอดภัย ภายใต้แนวคิด “ขายได้แล้วจึงมีการผลิต มิใช่ผลิตแล้วจึงนำมาขาย” ซึ่งการดำเนินการจะเป็นต้นแบบที่เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ในการส่งเสริมเกษตรกรในการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพ เป็นการยกระดับชีวิตของเกษตรกร โดยสามารถพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรและสร้างมูลค่าเพิ่มภายใต้การดำเนินงานในเรื่องเกษตรปลอดภัยและการยกระดับคุณภาพสินค้าด้านต่างๆ ควบคู่การพัฒนาแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีความหลากหลาย รวมทั้งพัฒนาการเก็บรักษา บรรจุภัณฑ์ให้รักษาคุณภาพและมีความทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่ถือว่าเป็นการพัฒนาตลอดห่วงโซ่ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำในลักษณะประชารัฐที่ภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษา โดยนำร่องในพืชที่มีศักยภาพทางการตลาด 5 ชนิด ได้แก่ กล้วยหอมทอง สับปะรด มะม่วงน้ำดอกไม้ ขิง และกระเจี๊ยบเขียว