สภาเกษตรกรฯ ร่วมผลักดันเกษตรกรสู่เจ้าของบริษัทธุรกิจเกษตร

         จากการเข้าร่วมงานมาตรการ เสริมแกร่ง เพิ่มทุน ครอบคลุมทุกกลุ่ม SMEs เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2561 ณ อาคารสำนักงานใหญ่ SME Bank นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สภาเกษตรกรฯ ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงเป็นตัวกลางประสานหน่วยงานต่างๆ ในการส่งเสริมเกษตรกรทั่วประเทศให้มีรายได้สูงขึ้น และเติบโตอย่างยั่งยืน โดยพัฒนาเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยการยกระดับอาชีพจากการทำเกษตรแบบดั้งเดิมสู่การใช้ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิต และตรงตามความต้องการของตลาด
         ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนด้านความรู้ ขณะที่ SME Bank เติมเต็มด้านเงินทุน โดยนำร่องที่ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ซึ่งมีการส่งเสริมให้ปลูกไผ่ และต่อยอดด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ถ่านเชื้อเพลิง ไผ่สำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรม เฟอร์นิเจอร์จากไม้ไผ่ และบ้านจากไม้ไผ่ เป็นต้น
         แนวคิดดังกล่าวจะขยายผลไปทั่วประเทศ ตั้งเป้าว่าจะต้องเกิดผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคเกษตรครอบคลุมอย่างน้อยทุกอำเภอทั่วประเทศ เกษตรกรนั้นมีแนวคิดเรื่องการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าตัวเองอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ติดขัดในเรื่องเงินทุน ซึ่งทาง SME Bank ยืนยันมีทุนเพียงพอและสามารถอุดหนุนได้ในวงเงิน 1 ล้านบาทต่อ 1 ผู้ประกอบการ โดยใช้ดอกเบี้ยเงินกู้เพียง 1% จัดเป็นสิทธิพิเศษมาก เบื้องต้นนั้นภายในปี 2561 คาดหวังจะผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่อย่างน้อยอำเภอละ 1 ผู้ประกอบการ 800 รายก่อน ปี 2562 ค่อยขยับขยายเป็นตำบลละ 1 ผู้ประกอบการ 8,000 รายต่อไป เกษตรกรที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนนั้นเป็นบุคคลธรรมดาหรือรวมกลุ่มกัน แต่ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทต่างๆก่อน เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด, บริษัทจำกัด, กลุ่มเกษตรกร, สหกรณ์ ทาง SME Bank จะดูตัวโครงการ บุคลากร เงินทุน ผู้บริหารองค์กร ผู้บริหารโครงการเป็นหลัก หลักทรัพย์เป็นรอง เกษตรกรจึงโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากกว่า โดยเฉพาะภาวะแรกเริ่มธุรกิจ เพื่อนำสู่การส่งเสริมให้เกษตรกรเป็นเจ้าของบริษัทธุรกิจเกษตร
         นายประพัฒน์ กล่าวอีกว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติจะทำหนังสือถึงสภาเกษตรกรจังหวัดให้รับทราบเบื้องต้นก่อน จากนั้นจะลงพื้นที่ในจังหวัดเป้าหมาย เช่น ภาคเหนือจัดที่ จ.ลำปาง ภาคอีสาน จ.ขอนแก่นหรืออุดรธานี ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น เกษตรกรที่มีความพร้อมทำการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม มีนวัตกรรม พันธุกรรมท้องถิ่น ภูมิปัญญา แหล่งท่องเที่ยวสวยงาม ความรู้ต่างๆ ขอให้นำเรื่องเหล่านี้พูดคุยกับเครือข่ายของตนแล้วนำไปหารือกับสภาเกษตรกรจังหวัดได้ทุกจังหวัด เพื่อจะทำเป็นโครงการขึ้นมา เมื่อสภาเกษตรกรฯและเจ้าหน้าที่ SME Bank ลงพื้นที่สามารถนำเสนอโครงการ เมื่อผ่านทุกขั้นตอนก็จะสามารถอนุมัติวงเงินกู้ได้ทันที