โรงสีข้าวชุมชน...เพื่อวิถีชาวนาบ้านโคกเที่ยงยั่งยืน
  • 3 ธันวาคม 2017 at 18:21
  • 6108
  • 0

 

 

กฟผ.มอบโรงสีข้าววิสาหกิจชุมชนโรงสีชาวนาบ้านโคกเที่ยง จ.อุบลราชธานี สืบสานพระราชปณิธาน ด้านการดูแลชาวนา มีแผนสนับสนุนอีก 7 แห่งใน 7 จังหวัด เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและสร้างอาชีพระยะยาวให้กับชาวนาในพื้นที่ ต่อยอดสู่การเป็นต้นแบบชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

         นายนิกูล ศิลาสุวรรณ รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานมอบโรงสีข้าวแก่วิสาหกิจชุมชนโรงสีชาวนาบ้านโคกเที่ยง อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี โดยระบุว่าการมอบโรงสีข้าวดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสาน “พระราชปณิธานด้านการดูแลชาวนา” เพื่อสนับสนุนชาวนาของพ่อบริเวณโดยรอบเขื่อน โรงไฟฟ้า พื้นที่ใกล้แนวสายส่ง และสถานีไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ.ให้มีความเป็นอยู่อย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมาได้มอบโรงสีข้าวให้กับวิสาหกิจชุมชนไปแล้ว 1 แห่ง คือ วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ กฟผ. บ้านเสรียง จ.สุรินทร์ และเป็นการส่งมอบโรงสีข้าวให้กับวิสาหกิจชุมชนโรงสีชาวนาบ้านโคกเที่ยง จ.อุบลราชธานี รวมทั้งมีแผนงานจะสนับสนุนโรงสีข้าวให้กับวิสาหกิจชุมชนอีก 7 แห่ง จ.กระบี่ อุดรธานี  ปทุมธานี  ราชบุรี กาญจนบุรี พิษณุโลก และตาก คาดว่าจะดำเนินการเสร็จปี 2561

 

 

         สำหรับวิสาหกิจชุมชนโรงสีชาวนาบ้านโคกเที่ยง อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงเขื่อนสิรินธรของ กฟผ. เป็นวิสาหกิจชุมชนแห่งแรกที่เกิดจากการรวมตัวกันของชาวนาในพื้นที่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกข้าวเหนียวและข้าวหอมมะลิที่มีลักษะพิเศษ คือ ข้าวมีความเหนียว นุ่ม และ กลิ่นหอม เพราะเป็นข้าวที่ปลูกในพื้นที่สูง อีกทั้ง จ.อุบลราชธานี ยังถือเป็นแหล่งผลิตข้าวสำคัญ 1 ใน 5 จังหวัดของประเทศ จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญและตั้งเป้าหมายในการช่วยพัฒนาท้องถิ่นและสร้างอาชีพแก่เกษตรกร ด้วยการสนับสนุนโรงสีข้าววิสาหกิจขนาดใหญ่สุดที่ได้มาตรฐานแห่งแรกของ จ.อุบลราชธานี เป็นเครื่องสีข้าวขนาด 3 ลูกหิน สามารถสีข้าวได้ทุกประเภททั้งข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ และข้าวไรซ์เบอรี่ กำลังการผลิตประมาณ 7 ตันข้าวเปลือกต่อวัน โดยจะ ดำเนินการผลิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้ชุมชนร่วมกันบริหารจัดการและดูแลโรงสีข้าวด้วยตัวเอง คือ จำหน่าย จ่าย แจกในชุมชน ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับชนิดของข้าว 

 

 

         ส่วนผลพลอยได้จากการสีข้าว อาทิ แกลบ รำ จะนำไปขายแล้วนำเงินมาไว้ใช้บริหารโรงสีข้าว สำหรับเป็นค่าสาธารณูปโภค ค่าแรง และค่าบำรุงรักษาโรงสีข้าว โดยคณะกรรมการโรงสีจะต้องรายงานผลการดำเนินงานต่อ กฟผ. เพื่อติดตามประเมินผล ทั้งนี้ การจัดตั้งโรงสีข้าวให้กับชาวนา ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางการแก้ปัญหาแบบยั่งยืนช่วยให้ชาวนามีกำไรมากกว่าการขายข้าวเปลือกรูปแบบเดิม ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนี้ กฟผ.มีแผนพัฒนาส่งเสริมต่อยอดสู่การเป็นชุมชนต้นแบบชีววิถี กฟผ.ให้ชาวบ้านหันมาทำเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง โดยใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพมาทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ ทำประมง และบำบัดสิ่งแวดล้อม มีผลผลิตเหลือจึงขาย สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน