กรมวิชาการเกษตร เตือนไร่กระเทียมระวัง "ไร" ระบาด

         

         ช่วงนี้ยังมีฝนตกกระจายทุกพื้นที่ และตกหนักบางพื้นที่ กรมวิชาการเกษตร จึงแจ้งข้อมูลเตือนภัยการผลิตพืช ระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 3 ตุลาคม 2560 สำหรับเกษตรกรที่ปลูก กระเทียม ให้เฝ้าระวังการระบาดของ "ไรกระเทียม" ที่มักพบการเข้าทำลายทั้งในระยะเจริญเป็นต้นอยู่ในไร่ ระยะต้นกล้า ระยะปลูกลงดิน และระยะหลังเก็บเกี่ยว

         ทั้งนี้ต้นกระเทียมที่ถูกไรเข้าทำลายจะไม่สมบูรณ์ ใบด่างเป็นหย่อมๆ มีสีขาวและเหลือง โดยเฉพาะบริเวณขอบใบ ใบจะพับเข้าหากันตามแนวเส้นกลางใบ ปลายใบม้วนงอพันกันไม่ตั้งตรง มักเรียกลักษณะของใบที่ม้วนพันกันนี้ว่า "ใบบ่วง” อาการด่างขาวของใบจะสังเกตเห็นได้ชัดเจน ซึ่งต่างกับการทำลายของเพลี้ยไฟที่มีลักษณะอาการประสีขาวจางๆ และพบมากบนใบอ่อนที่แตกใหม่ บางครั้งใบอ่อนที่เพิ่งเริ่มโผล่ออกมาจะมีอาการด่างขาว และบิดเป็นลูกคลื่น ไม่ยืดออกจากกาบใบ

         หากต้นกระเทียมถูกไรเข้าทำลายอย่างรุนแรง ระยะต้นกล้า ตั้งแต่ต้นยังเล็กอาจทำให้ต้นกระเทียมตายหมดทั้งแปลงได้ ระยะเริ่มลงหัว จะทำให้หัวกระเทียมเล็กลง ระยะใกล้เก็บเกี่ยว อาจไม่มีผลต่อผลผลิตมากนัก กรณีต้นกระเทียมที่เก็บเกี่ยวจากไร่แล้วถูกนำมาแขวนหรือผึ่งลม ไรจะเคลื่อนย้ายจากใบลงมายังกาบใบ และดูดทำลายอยู่ที่หัวกระเทียม โดยเฉพาะบริเวณกลีบที่อยู่ด้านในของหัว ซึ่งการทำลายของไรเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่กระเทียมถูกเก็บไว้เพื่อบริโภคหรือทำพันธุ์ กลีบกระเทียมที่ถูกทำลายจะแห้ง ผิวกลีบเหี่ยวย่น ต่อมาเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาลเข้มในที่สุด กระเทียมจะแห้งแข็ง และฝ่อไปเรื่อยๆ เมื่ออาหารบนกลีบกระเทียมที่ไรดูดกินหมดไป ไรจะเคลื่อนย้ายลุกลามเข้าทำลายกลีบที่อยู่ใกล้เคียงต่อไป

         สำหรับแนวทางป้องกันและแก้ไข ให้เกษตรกรเริ่มสำรวจต้นกระเทียมหลังงอกเมื่ออายุประมาณ 3 สัปดาห์ ถ้าพบอาการใบม้วนงอและขอบใบเป็นสีเหลืองมากกว่า 25% ให้พ่นด้วยสารฆ่าไรอะมิทราซ 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือกำมะถัน 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 55-70 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และสำรวจต่อไปทุก 14 วัน หากพบอาการดังกล่าวให้พ่นซ้ำ โดยควรผสมสารจับใบ ทั้งนี้ ก่อนการปลูกกระเทียม เกษตรกรควรคัดเลือกหัวพันธุ์ที่สมบูรณ์คุณภาพดีจากแหล่งที่ไม่เคยมีการระบาดทำลายของไรกระเทียมมาก่อน จากนั้นควรกำจัดวัชพืชในนาและบนคันนาก่อนเตรียมดินปลูก เพื่อทำลายแหล่งที่อาศัยของไรนอกฤดูปลูกกระเทียม

         ส่วนการเก็บเกี่ยวควรแยกกระเทียมที่จะใช้ทำพันธุ์ไว้ต่างหาก และไม่นำมารวมกับกระเทียมส่วนอื่นๆ สำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับกระเทียมที่เก็บเกี่ยวมาแล้วในขณะเก็บรักษาไว้เพื่อการบริโภค ทำพันธุ์ หรือรอการรับซื้อจากพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรควรทำการรมกระเทียมด้วยอลูมิเนียมฟอสไฟด์หรือฟอสฟีน ในอัตรา 1 เม็ดต่อเนื้อที่ 1 ลูกบาศก์เมตร โดยให้นำกระเทียมที่เก็บเกี่ยวแล้วมาแขวนผึ่งหัวกระเทียมให้แห้ง จากนั้นรมกระเทียมใต้ผ้าพลาสติกในที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก และรมทิ้งไว้เป็นเวลา 5 วัน กรณีกระเทียมที่ใช้ทำพันธุ์ ควรรมซ้ำอีก 1 ครั้งก่อนนำไปปลูก โดยใช้อัตราและระยะเวลาในการรมเช่นเดียวกับครั้งแรก หลีกเลี่ยงการสูดดมก๊าซพิษในขณะปฏิบัติงาน โดยเฉพาะขณะเปิดผ้าพลาสติกหลังการรมแต่ละครั้ง เนื่องจากอลูมิเนียมฟอสไฟด์หรือฟอสฟีน เป็นสารพิษอันตราย