สศก. เผย "ธนาคารเกษตรด้านประมง" ผลงานเข้าเป้า

         ความคืบหน้า โครงการธนาคารผลผลิตเกษตรด้านการประมง ล่าสุด นางสาวรังษิต ภู่ศิริภิญโญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามผลในปีงบประมาณ 2560 โดยสอบถามจากเจ้าหน้าที่ คณะกรรมการธนาคาร และสมาชิกธนาคาร ใน 20 จังหวัด (ภาคเหนือ 7 จังหวัด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 จังหวัด) พบว่า พื้นที่ชุมชนที่มีแหล่งน้ำทั้ง 20 จังหวัด มีการจัดตั้งคณะกรรมการธนาคารได้เฉลี่ย 17 ราย/แห่ง ที่มาจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อบริหารจัดการธนาคาร มีการกำหนดเงื่อนไข กฎระเบียบ เกณฑ์ต่างๆ มีการรับสมัครสมาชิกธนาคารได้กว่า 1,500 ราย เฉลี่ย 75 ราย/แห่ง (เป้าหมาย 600 ราย เฉลี่ย 30 ราย/แห่ง)

          ทั้งนี้สมาชิกส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ทราบข่าวโครงการจากเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาส่งเสริม และผู้นำชุมชน ซึ่งสมาชิกธนาคารมีการเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อดินอยู่แล้วเป็นอาชีพเสริม มีประสบการณ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำประมาณ 7 ปี มีการสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานแห่งละ 305,500 บาท เป็นงบดำเนินงาน 132,500 บาท/แห่ง จำแนกเป็นพันธุ์ สัตว์น้ำ อาหารสัตว์น้ำวัยอ่อน น้ำยาทดสอบคุณสมบัติน้ำ และปูนขาวเพื่อปรับสภาพน้ำ ส่วนงบเงินอุดหนุน 173,000 บาท/แห่ง จำแนกเป็นค่าปรับปรุงแหล่งน้ำให้เหมาะสมต่อการเพิ่มผลผลิต วัสดุล้อมขังสัตว์น้ำ อุปกรณ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำประจำธนาคาร และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการธนาคาร

   

          การดำเนินการในรูปแบบธนาคารผลผลิตเกษตรด้านการประมง เริ่มจากการชี้แจงวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับธนาคารให้ชัดเจนก่อน โดยสมาชิกธนาคารทุกรายได้เข้าร่วมฟังคำชี้แจง มีการถ่ายทอดความรู้ในการเลี้ยงสัตว์น้ำ ตั้งแต่ การเตรียมแหล่งน้ำ การสร้างอาหารธรรมชาติในแหล่งน้ำ และการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นต้น โดยสมาชิกธนาคารที่เข้าร่วมดำเนินการสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในฟาร์มของตนเอง ในระดับค่อนข้างมาก กว่าร้อยละ 88 ซึ่งภาพรวมของการดำเนินการครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในแต่ละกิจกรรม

          อย่างไรก็ตาม ยังมีเสียงสะท้อนจากสมาชิกธนาคารด้วยว่า การสนับสนุนพันธุ์ปลาที่ได้ปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ของแหล่งน้ำชุมชนที่มีขนาดใหญ่ และการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำใช้เวลา 8-10 เดือน ทำให้การดำเนินการในรูปแบบธนาคารยังไม่เห็นผลชัดเจนในทางปฏิบัติ ดังนั้น ควรมีการสนับสนุนปัจจัยการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ธนาคารสามารถผลิตพันธุ์สัตว์น้ำไว้ใช้หมุนเวียนในธนาคาร และต้องผลักดันให้ธนาคารสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารประเภทโปรตีนให้แก่สมาชิกในชุมชนต่อไป