ที่มา... มหากาพย์ฝายท่าลาด

 

 

ไม่น่าเชื่อว่า ท่อผี หรือท่อส่งน้ำเข้านานอกบัญชีหรือท่อรูหนูของคลองส่งน้ำสายซอย 1 ขวาของพื้นที่ส่งน้ำฝายท่าลาด จ.ฉะเชิงเทรา จะกลายมาเป็นละครตัวเอกในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำที่เรื้อรังมายาวนานกว่า 10 ปี และไม่อาจใช้วิธีการอื่นใดแก้ได้

            จนเมื่อใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรผู้ใช้น้ำเข้าไปดำเนินการ ทั้งเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชน (คสป.) และเกษตรกร โดยจัดเวทีสาธารณะ การเดินเท้าสำรวจ (Walk Through) การจัดทำแผนที่ทำมือหรือแผนที่เดินดิน หรือเรียกรวมๆว่า ชลประทานท้องถิ่น

            ท้ายที่สุดสามารถแก้ปัญหาน้ำไปไม่ถึงปลายคลอง ได้ทั้งความสมานสามัคคี การประหยัดน้ำและสามารถส่งน้ำไกลจากปลายคลองได้ถึง 3 กิโลเมตร

กลายเป็นแม่แบบสำหรับคลองอีกหลายสายที่ขับเคลื่อนตาม สร้าง “ปรากฏการณ์ฝายท่าลาด” ทั้งภายในพื้นที่และนอกพื้นที่ จนเป็นที่กล่าวขวัญมากมาย

ฝายท่าลาด เป็นอาคารชลประทานทำหน้าที่ทดน้ำในคลองท่าลาดให้ไหลเข้าสู่คลองส่งน้ำสายใหญ่ ความยาวรวม 44.9 กิโลเมตร ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทาน 160,125 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอของจังหวัดฉะเชิงเทรา และ 1 อำเภอของจังหวัดชลบุรี โดยรับน้ำต้นทุนจาก อ่างเก็บฯ คลองระบม ความจุ 55.50 ล้านลูกบาศก์เมตร และ อ่างเก็บน้ำคลองสียัด ความจุ 420 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำลงมาตามคลองระบมและคลองสียัดมาบรรจบกันเป็นคลองท่าลาด

 

 

พื้นที่ชลประทานฝายท่าลาด อยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายส่งน้ำบำรุงรักษาที่ 3 โครงการชลประทานฉะเชิงเทรา สำนักงานชลประทานที่ 9  มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานพื้นฐาน 139 กลุ่ม และกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทาน 33 กลุ่ม

            สำหรับท่อผี ซึ่งเป็นท่อส่งน้ำที่เกษตรกรแอบติดตั้งเพื่อส่งน้ำเข้าแปลงตัวเอง ไม่อยู่ในสายตาเวทีสาธารณะแต่ต้นเท่าใดนัก ตลอดจนการเดินสำรวจ และทำแผนที่ทำมือ  เกษตรกรยังพุ่งเป้าหลักไปยังระดับท้องคลองว่า เป็นเพราะปลายคลองเหินหรือท้องคลองช่วงปลายยกระดับสูง ทำให้ส่งน้ำไม่ถึงปลายคลอง

            จนต้องพิสูจน์ความจริง ท่ามกลางสักขีพยานร่วมจากตัวแทนคลอง 3 ช่วงคลอง ผู้นำชุมชนในพื้นที่ ทหารจาก คสช. อำเภอพนมสารคาม และเจ้าหน้าที่ชลประทานทดสอบส่งน้ำคลองซอย 1 ขวา โดยปิดท่อส่งน้ำเข้านาและคลองแยกซอยทั้งหมด

            ผลปรากฏว่า น้ำสามารถส่งได้ถึงปลายคลองภายใน 4 ชั่วโมง แสดงว่าท้องคลองไม่เหินอย่างที่เข้าใจผิดมาโดยตลอด 

           “เรื่องน้ำไม่ถึงปลายคลอง กรมชลประทานมักตกเป็นจำเลยเสมอว่า ท้องคลองเหิน จนต้องพิสูจน์ความจริงและพบว่า เรื่องอื่นต่างหาก แต่เกษตรกรมักปักใจเชื่ออย่างนั้นก่อนเสมอ” นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทานกล่าว กลับกัน เมื่อเปิดท่อส่งน้ำเข้านาทั้งหมด รวมทั้งท่อนอกบัญชีหรือท่อผี น้ำที่เต็มคลองแห้งหมดภายในเวลาไม่ถึง 30 นาที

 

 

บรรดาสักขีพยานฟันธงตรงกันว่า ที่น้ำส่งไม่ถึงปลายคลอง แท้จริงมีสาเหตุหลักจากท่อผีต่างหาก

           เดิมคาดว่ามีท่อผี 20 ท่อ แต่สำรวจจริงพบว่ามีถึง 61 ท่อ หรือมากกว่า 3 เท่า ปริมาณน้ำจำนวนไม่น้อยผ่านไปทางท่อผี ดังนั้น น้ำจึงไม่ถึงปลายคลองสักที

           เวทีสาธารณะครั้งต่อมา จึงตั้งวัตถุประสงค์แก้ปัญหาท่อผีเหล่านี้  ท่ามกลางการถกเถียงเผ็ดร้อน แต่อีกนั่นแหละ ท่อผีไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้ายไปหมด อีกด้านหนึ่งยังเป็นประโยชน์ในการกระจายน้ำได้ทั่วถึงมากขึ้น ในขณะท่อในบัญชีของชลประทานไม่เพียงพอกับพื้นที่ปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่าการขยายพื้นที่ของเกษตรกรไม่สมดุลกับการขยายพื้นที่ส่งน้ำของชลประทาน จนเกษตรกรต้องพึ่งพาตัวเองด้วยท่อผี

          แต่ท่อผีมีข้อเสียตรงที่ว่า เป็นรูรั่วทำให้สิ้นเปลืองน้ำ หากไม่มีคนดูแลคอยปิด โดยเฉพาะบางท่อไม่ใช้ประโยชน์แล้ว จึงนัดเดินสำรวจตลอดคลองอีกครั้ง โดยให้เจ้าของท่อผีแสดงตนที่ท่อผีของตัวเอง  หากไม่มีใครแสดงตนจะอุดท่อเป็นการถาวรทันที

            กติกานี้ได้ผล เจ้าของท่อผีต้องแสดงตนมากถึง 61 ราย

            กระบวนการแก้ไขปัญหาต้องนัดเจ้าของท่อผี เพื่อจัดทำกติกาควบคุมกันเองก่อนนำไปเสนอในเวทีใหญ่ โดยมีข้อสรุปชั้นต้นว่า เจ้าของท่อผีต้องรับผิดชอบดูแลเปิดปิดท่อของตัวเองตามกติกากลุ่มอย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นจะปิดท่อผีเป็นรายๆ ไป

 

 

            พอเข้าสู่เวทีสาธารณะอีกครั้ง สมาชิกจำนวนมากเสนอให้ปิดท่อผีทั้งหมดถือว่าเป็นท่อผิดกฎหมาย  ในขณะตัวแทนกลุ่มท่อผีได้เสนอกติกาที่มีข้อสรุปเพื่อเป็นทางออก แทนการปิดอย่างเดียว 

          โชคดีที่ที่ประชุมเข้าใจต่อปัญหาน้ำ นำไปสู่ความเห็นใจและเอื้อเฟื้อ จึงเห็นชอบกับกติกาของกลุ่มท่อผี และมีการจัดรอบเวรส่งน้ำ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดูแลต้นคลอง กลางคลอง ปลายคลอง และกำหนดกติกาในการดูแลรักษาคลอง เป็น“สัญญาใจ”ของพี่น้องคลองซอย 1 ขวาท่าลาด

            การดูแลรักษาคลอง เดิมตกเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ชลประทานเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งไม่ทั่วถึง เมื่อมีเกษตรกรช่วยดูแลกันเองก็ผ่อนเบาภาระ ตัววัชพืชและตะกอนก็ค่อยๆ เป็นปัญหาเบาบางลง

           การส่งน้ำมิติใหม่สามารถส่งไปถึงปลายคลองสำเร็จเป็นครั้งแรก ด้วยความร่วมมือร่วมใจของเกษตรกรทุกช่วงคลองและเจ้าของท่อผี แถมยังสามารถส่งน้ำเลยจากปลายคลองซอยได้ถึง 3 กิโลเมตร เป็นความมหัศจรรย์ของฝายท่าลาด

           ผลดีตามมาอีกประการหนึ่งคือ เกิดความร่วมมือประหยัดน้ำ เป็นผลจากการส่งน้ำได้สะดวกรวดเร็วกว่าเดิม กระจายน้ำได้ทั่วถึงและเกิดจิตสำนึกความเป็นเจ้าของน้ำ โดยหลังการส่งน้ำแต่ละรอบจะมีการถอดบทเรียน สมาชิกจะหาทางประหยัดน้ำ

 

 

           แผนการใช้น้ำครั้งล่าสุด ระหว่างเดือนธันวาคม 2558-กุมภาพันธ์ 2559 เฉพาะท่าลาดตอนบน มีแผนใช้น้ำ 34 ล้านลูกบาศก์เมตร  แต่ใช้ไปเพียง 27.20 ล้านลูกบาศก์เมตร ประหยัดน้ำ 6.80 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 20% ถือเป็นตัวเลขที่น่าชื่นใจ น้ำที่ประหยัดได้จะฝากไว้ในอ่างเก็บน้ำและนำมาใช้ในยามจำเป็น

           ที่ผ่านมา ฝ่ายส่งน้ำฯ ที่ 3 พยายามแก้ปัญหาคลองซอย 1 ขวามาโดยตลอด แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนเมื่อใช้กระบวนการมีส่วนร่วมมาทดลองกลับได้ผลลัพธ์ดีเกินคาด นอกจากแก้ปัญหาเรื้อรังนับ 10 ปีได้แล้ว ยังสร้างความสามัคคีในกลุ่มได้มากขึ้น มีแนวโน้มเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่อกลุ่มผู้ใช้น้ำกลุ่มอื่นของฝายท่าลาด เช่น กลุ่มผู้ใช้น้ำคลองซอย 1.1 ขวา กลุ่มผู้ใช้น้ำคลองซอย 2 ขวา กลุ่มผู้ใช้น้ำคลองซอย 4 ขวา กลุ่มผู้ใช้น้ำคลองซอย 3 ขวา และกลุ่มผู้ใช้น้ำคลองซอย 5 ขวา

            ฝายท่าลาด เป็นรูปธรรมความสำเร็จของการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้าจัดการ เป็นการเปิดให้เกษตรกรเรียนรู้ปัญหา วางแผนแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง โดยมีเจ้าหน้าที่ชลประทานเป็นฝ่ายอำนวยการและเทคนิค เมื่อผสมผสานกันได้ก็ส่งผลสะเทือนในวงกว้าง

            เป็นฝายท่าลาดโมเดล ที่ซับซ้อนด้วยปัญหา แต่ฟันฝ่าสร้างสมปัญญาให้เกษตรกร จนเป็นผลสำเร็จอย่างน่าชื่นใจ