ปฏิรูปชลประทานไทย

ปฏิรูปชลประทานไทย

รองรับทิศทางการปลูกพืชที่เปลี่ยนไป

โดย - ปรีชา อภิวัฒนกุล

 

         วิธีปฏิบัติเรื่องการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตรอย่างหนึ่งของประเทศไทย คือสร้างฝายก่อน เพราะทำได้ง่ายและไว ไม่ต้องมีพิธีรีตองหลายขั้นตอน ฝายจึงเป็นเครื่องมือชลประทานที่ได้รับความนิยม

         จะเป็นฝายน้ำล้น ประตูระบายน้ำ ล้วนช่วยยกระดับน้ำเหนือฝายไปใช้เพื่อการเกษตรได้ทั้งสิ้น

         ใช้งานไปสักพัก เริ่มมีปัญหา เพราะไม่มีน้ำต้นทุนไหลลงมาเติม หรือมีการขยายตัวของพื้นที่การเกษตรมากขึ้น จนน้ำไม่พอใช้ ความไม่มั่นคงด้านน้ำเกิดขึ้นเห็นชัดๆ

          ตานี้ก็ต้องก่อสร้างแหล่งต้นทุนคือเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากมากกระบวนการ ประเภทอีไอเอ อีเอชไอเอ ยิ่งถ้าเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ต้องเจอขาประจำ ประเภท No Dam ค้านลูกเดียวก่อน พ่อสอนไว้ แต่ก่อนใช้เวลาไม่น้อยกว่า 20-30 ปี กว่าจะได้สร้าง เดี๋ยวนี้น่าจะ 30 ปีขึ้นไป

         ถึงวันสร้างแล้วเสร็จ เตรียมเปิดใช้งาน...กลับโอละพ่อ

         ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมด

         ตัวอย่างล่าสุดที่เห็นจากการเดินทางไปดูงานพัทลุง คือ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง ความจุ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร

         อ่างเก็บน้ำเขื่อนคลองหัวช้างสร้างเสร็จ ปี 2555 โดยมีโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียด ซึ่งอยู่ห่างออกไปร่วม 30 กิโลเมตร รับน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้างและส่งน้ำให้พื้นที่โครงการ 103,298 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ 8 ตำบล ได้แก่ อ.เขาชัยสน (ต.เขาชัยสน/ต.จองถนน) อ.บางแก้ว (ต.โคกสัก/ต.ท่ามะเดื่อ/ต.นาปะขอ) อ.ตะโหมด (ต.แม่ขรี) อ.ป่าบอน (ต.ป่าบอน) และ อ.ปากพะยูน (ต.ฝาละมี)

         มีอ่างเก็บน้ำต้นทุนแล้ว มีระบบชลประทานคอยส่งน้ำอยู่แล้ว ทุกอย่างน่าจะสวยสดงดงาม เอาเข้าจริงฝันสลาย เพราะระบบชลประทานทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากก่อสร้างใช้งานมานานตั้งแต่ปี 2514 อีกส่วนหนึ่ง พื้นที่โครงการเดิมที่เป็นนาข้าวเกือบ 100,000 ไร่ มาปัจจุบันเหลือแค่ 5,000 ไร่ ส่วนใหญ่แปรสภาพเป็นสวนยางพารากว่า 80,000 ไร่ ปาล์มน้ำมันกว่า 10,000 ไร่ เนื่องจากราคาข้าวไม่ดี

         นาข้าวเป็นทุ่งโล่ง ส่งน้ำไป ปล่อยให้เท้อเข้าแปลงเป็นทอดๆ แต่สวนยาง สวนปาล์ม มันคนละเรื่อง ทั้งปริมาณความต้องการน้ำ ความถี่ที่ต้องการ ลักษณะพื้นที่ยกร่อง กลายเป็นอุปสรรคต่อการส่งน้ำที่ไม่สอดรับกัน

         โครงสร้างการปลูกพืชเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป พลอยทำให้ระบบส่งน้ำต้องเปลี่ยนด้วย นอกเหนือจากความเก่าชะแรแก่ชราของระบบ

         "ต้องมานั่งวางแผนกันใหม่ ทั้งเรื่องฝายกับอ่างเก็บน้ำที่ต้องสอดประสานกันมากกว่านี้ และเรื่องโครงสร้างการเปลี่ยนพืชที่ปลูก ซึ่งต้องมองอีกว่า ต่อไปเกษตรกรอาจโค่นยางโค่นปาล์มไปปลูกอื่น ระบบที่วางแผนไว้จะต้องยืดหยุ่นมากขึ้น" ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ว่าที่อธิบดีกรมชลประทานคนใหม่กล่าว

         อันที่จริงหลายแห่งก็เป็นแบบนี้ อย่างโครงการอ่างเก็บน้ำประแสร์ เดิมทีก็ออกแบบสำหรับนาข้าวนับแสนไร่ มาถึงวันที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ก่อสร้างแล้วเสร็จ เกษตรกรส่วนใหญ่เลิกทำนา หันไปปลูกสวนผลไม้ สวนยางพารา แทนเช่นกัน ระบบชลประทานจึงปรับเปลี่ยนเป็นชลประทานทางท่อเป็นสำคัญ

         กรมชลประทานเองคงต้องตั้งหลักให้มั่นมากขึ้น โดยเฉพาะเป้าหมายพื้นที่การเกษตรที่เดิมๆ เป็นแต่นาข้าว แต่ปัจจุบันไม่ใช่มากขึ้น ทั้งราคาข้าวที่ไม่จูงใจ ทั้งนโยบายรัฐที่ให้ยึดความเหมาะสมของพื้นที่ปลูก และทั้งการมีทางเลือกมากขึ้นกว่าข้าว เพราะตระหนักแล้วว่า ข้าวอย่างเดียวไม่พอไม่รอด

         การออกแบบโครงการตั้งแต่ความจุอ่างเก็บน้ำ ระบบส่งน้ำ จึงต้องแม่นยำยิ่งขึ้น ยืดหยุ่นดีกว่าเดิม จึงจะตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ