ชี้ทำพืชเศรษฐกิจสูญกว่า“แสนล้าน”

 

 

สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดผลการรับฟังความเห็นเกษตรกร-นักวิชาการ ค้านยกเลิกใช้พาราควอต หวั่นผลผลิตพืชเศรษฐกิจสูญกว่าแสนล้าน/ปี

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการขับเคลื่อนสารป้องกันกำหนดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง กระทรวงสาธารณสุข เสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้ยกเลิกการใช้สารกำจัดวัชพืชพาราควอต ซึ่งเป็นยาปราบศัตรูพืช หรือยาฆ่าหญ้า ที่เกษตรกรไทยใช้กันมานานกว่า 50 ปี โดยให้เหตุผลเรื่องปัญหาสุขภาพ สมาพันธ์ฯได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจาก นักวิชาการ เกษตรกร ผู้เชียวชาญที่มีประสบการณ์ด้านการเกษตร  สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ทั่วประเทศจำนวน 7 ครั้ง

 

ทั้งนี้จากลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปร่วมกันในสมาพันธ์ฯ ว่า สมาพันธ์ไม่เห็นสมควรยกเลิกการใช้สารพาราควอต เพราะมีความสำคัญกับเกษตรกรทั้งผู้เพาะปลูก พืชไร่ พืชสวน ที่ใช้สารพาราควอตในการกำจัดวัชพืชจำนวนมาก หากให้เลือกเฉพาะพืชเศรษฐกิจ ที่มีการส่งออกและสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไทย ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวโพดหวาน มีมูลค่ารวมประมาณ 442,600 ล้านบาท ต้นทุนรวมจะเพิ่มขึ้น 39,794 ล้านบาท/ปี หรือ ผลผลิตลดลงรวมมูลค่า 112,435 ล้านบาท/ปี

แบ่งเป็นอ้อย มูลค่าผลผลิตรวม 100,000 ล้านบาท/ปี  หากมีการยกเลิกการใช้สารพาราควอต ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 2,200% จาก 135 บาท เป็น 3,200 บาท และหากไม่ใช้สารกำจัดวัชพืช ผลผลิตอ้อยจะลดลง 20% หรือ 22 ล้านตัน/ปี จากผลผลิตรวมประมาณ 110 ล้านตัน/ปี หรือสูญเสียมูลค่าผลผลิตอ้อยประมาณ 22,000 ล้านบาท/ปี อันส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลเป็นมูลค่า 250,000 ล้านบาท ,ข้าวโพดหวาน มูลค่าผลผลิตรวม 3,600 ล้านบาท ต้นทุนจะเพิ่มทันที่ 1,500% จากต้นทุน 132 บาท เพิ่มเป็น 2,100 บาท หรือต้นทุนเพิ่มขึ้น 1,000 ล้านบาท แต่หากไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืช ผลผลิตข้าวโพดหวานจะลดลง 100% หรือมูลค่าผลผลิตเหลือ 0 ล้านบาททันที

 

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  มูลค่าผลผลิตรวม 28,000 ล้านบาท/ปี หากเลิกใช้สารพาควอต ต้นทุนจะเพิมขึ้น 1,500% จาก 132 บาทเพิ่มเป็น 2,100 บาท หรือต้นทุนเพิ่มขึ้นรวม 13,723 ล้านบาท/ปี ถ้าไม่ใช้สารกำจัดวัชพืช ผลผลิตจะลดลง 40% หรือผลผลิตลดลง 1.9 ล้านตัน/ปี จากผลผลิตรวม 4.1 ล้านตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าที่สูญเสียไป 12,977 ล้านบาท/ปี และยังส่งผลต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมอาหารสัตว์อีกด้วย, มันสำปะหลัง มูลค่าผลผลิตรวม 57,000 ล้านบาท  ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 802% จาก 166 บาทเพิ่มเป็น 1,500 บาท ต้นทุนเพิ่มรวม 11,519 ล้านบาท/ปี หากไม่ใช้สารกำจัดวัชพืชผลผลิต จะลดลง 40%  หรือ 12.6 ล้านตัน/ปี จากผลผลิตทั้งปีประมาณ 31.2 ล้านตัน/ปี  หรือมูลค่าผลผลิตจะหายไปทันที 23,058 ล้านบาท/ปี

ปาล์มน้ำมัน มูลค่าผลผลิตรวม 44,000 ล้านบาท ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 148% จากต้นทุน 290 บาทเพิ่มเป็น 430 บาท หรือมูลค่า 1,940 ล้านบาท หากไม่ใช้สารกำจัดวัชพืชผลผลิตจะลดลง 20% คิดเป็นผลผลิตที่หายไป 2.2 ล้านตัน  หรือ มูลค่าผลผลิตจะหายไปรวม 8,800 ล้านบาท/ปี  และ ยางพารา มูลค่าผลผลิต 210,000 ล้านบาท หากเลิกใช้พาราควอตต้นทุนจะเพิ่มขึ้นทันที 148% จาก 290 บาท เป็น 430 บาท หรือต้นทุนเพิ่มขึ้นทันที 8,410 บาท/ปี  และหากไม่ใช้ยากำจัดวัชพืช ผลผลิตจะลดลงทันที 20% หรือผลผลิตหายไป 0.9 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าผลผลิตที่สูญเสียไป 42,000 ล้านบาท/ปี 

 

 

นายสุกรรณ์ กล่าวว่า นอกจากสมาพันธ์จะดำเนินการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญแล้ว ในส่วนของกรมวิชาการเกษตร (กวก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ให้ใบอนุญาตนำเข้า และการขึ้นทะเบียนสารเคมีในประเทศไทยได้ตรวจสอบตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ 4ด้าน ได้แก่ 1.การทบทวนค่าพิษวิทยา 2.การห้ามใช้ในประเทศต่างๆด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ 3.การปฏิบัติภายใต้อนุสัญญาประชาคมโลก  ข้อ 4.ผลการรับฟังความเห็น

โดยนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดี กวก.ได้สรุปผลการตรวจสอบยืนยัน ว่า สารพาราควอต ยังสามารถใช้ได้ไม่เป็นอันตราย หากใช้ภายใต้การควบคุม และ กวก.จะนำเสนอผลการตรวจสอบไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อเร่งรัดให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายประชุมให้เกิดความชัดเจนต่อไป ส่วนกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขออกมาระบุว่า พาราควอต เป็นสาเหตุให้เกิดโรคพาร์กินสันนั้น โรงพยาบาลรามาธิบดี ยืนยันว่า สารพาราควอตไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน และโรคหนังเน่า แต่อย่างใด และกรณีถูกผิวหนังหากปฏิบัติถูกต้องใช้ตามวิธีการใช้ตามที่ฉลากกำหนดจะไม่เกิดปัญหาแต่อย่างใด

 

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสารพาราควอต มีขึ้นทะเบียนการใช้มากกว่า 80 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีความเข้มงวดในเรื่องของการอนุญาตให้ใช้สารเคมี อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และ ญี่ปุ่น เป็นต้น และผู้ส่งออกในต่างประเทศยอมรับการเพาะปลูกโดยใช้สารพาราควอต ว่ามีความปลอดภัย โดยสารพาราควอตไม่ได้อยู่ในบัญชีสารเคมีเฝ้าระวัง หรือ มีมาตรการพิเศษของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แต่อย่างใด