ปรับปฏิทินปลูกข้าว บริหารน้ำที่ลุ่มต่ำได้ผลน่าพอใจ

         จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะรัฐมนตรี เดินทางติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา "โครงการเปิดน้ำเข้านา - ปล่อยปลาเข้าทุ่ง" บริเวณประตูระบายน้ำบ้านแพน ต.บ้านแพน อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ในทุ่งบางบาล-บ้านแพน มีพื้นที่รับน้ำ 33,450 ไร่ รองรับน้ำได้ 107 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมี นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน และดร.ทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ร่วมบรรยายสรุปข้อมูลการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผานมา

         นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชื่นชมโครงการเปิดน้ำเข้านา - ปล่อยปลาเข้าทุ่ง ที่มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี แก้ไขปัญหาน้ำช่วงฤดูน้ำหลาก ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มจากการทำประมงในพื้นที่นาข้าวหลังจากการปล่อยน้ำเข้าทุ่งนา อีกทั้งยังทำให้ประชาชนลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี เพราะน้ำที่ปล่อยเข้าทุ่งนาจะนำเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์จากธรรมชาติเข้ามาในทุ่งนาด้วย และขอให้ประชาชนร่วมมือกัน ทำอะไรขอให้นึกถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ช่วยกันทุกภาคส่วนให้มีความเข้มแข็งไปด้วยกัน ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนเพื่อให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

         สำหรับทุ่งรับน้ำบ้านแพนเป็น 1 ใน 7 ทุ่งรับน้ำของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่สามารถทำเป็นแก้มลิงรองรับน้ำหลาก และมีการปรับเปลี่ยนระบบการปลูกข้าวเหลื่อมเวลา เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบอุทกภัยซ้ำซาก และเป็นการจัดระบบการปลูกข้าวให้ได้ปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวทันต่อกำหนดการเปิดพื้นที่ให้เป็นพื้นที่รับการระบายน้ำ ซึ่งเป็นช่วงการปล่อยน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่ง ในพื้นที่ทุ่งรับการระบายน้ำ 7 ทุ่ง ได้แก่ ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งบ้านแพน ทุ่งบางบาล ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งบางกุ่ม และทุ่งบางกุ้ง โดยโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการช่วยจัดสรรน้ำ และจัดส่งน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายให้เพียงพอในการปลูกข้าว ตามระบบการปลูกข้าวเหลื่อมเวลาและทันกำหนดระยะเวลาการปลูก โดยกำหนดห้วงเวลาตามแผนให้เกษตรกรปลูกข้าวต้นเดือนเมษายน และเก็บเกี่ยวให้แล้วเสร็จไม่เกิน 15 กันยายนของทุกปี หลังจากนั้นจะใช้พื้นที่นาหลังเก็บเกี่ยวเสร็จเป็นทุ่งรับน้ำ เพื่อกระจายน้ำเข้าทุ่งประมาณ 3 เดือน เพื่อปล่อยปลาเข้าทุ่ง ให้เกษตรกรได้ทำการประมงสร้างอาชีพเสริม

         นอกจากนั้น ทางจังหวัดฯ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยยังได้ดำเนินโครงการ "ขุดดินแลกน้ำ" ตามนโยบายบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะพื้นที่การเพาะปลูกนอกเขตชลประทานที่อาศัยเพียงน้ำฝนและจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก เพื่อปรับปรุง ซ่อมแซม เสริมศักยภาพแหล่งกักเก็บน้ำเดิม หรือสร้างแหล่งกักเก็บน้ำใหม่ในที่ขาดแคลน โดยดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีการเกี่ยวกับการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ที่ตื้นเขิน พ.ศ. 2547 ทำให้ไม่ต้องใช้งบประมาณทางภาครัฐในการดำเนินการ ในปี พ.ศ. 2560 ทางจังหวัดฯ ได้ดำเนินโครงการแล้ว จำนวน 15 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 295 ไร่ 2 งาน 83.78 ตารางวา ปริมาณดินที่ได้ 772,044 ลูกบาศก์เมตร สามารถประหยัดเงินงบประมาณในการขุดลอกแหล่งน้ำของภาครัฐได้ จำนวน 20.366 ล้านบาท และมีเงินเหลือคืนเป็นรายได้ของรัฐ จำนวน 1.250 ล้านบาท