โครงการ9101ส่งเสริมเกษตรกรสตูลใช้ปุ๋ยอินทรีย์

          นายมงคล ทองจิบ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินสตูล 

โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน เป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ดำเนินการในส่วนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และการปรับปรุงดิน เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและชุมชน ด้วยการนำหลักการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานไว้มาเป็นต้นแบบดำเนินการ โดยให้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาภาคการเกษตรของชุมชนได้มีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน

นายมงคล ทองจิบ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินสตูล กล่าวว่า ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์จังหวัดสตูล สาขาย่อยบ้านปาเต๊ะเหนือ บ.ปาเต๊ะเหนือ  ม.6  ต.เจ๊ะบิลัง  อ.เมือง  จ.สตูล ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 จนกระทั่งปี 2560 เป็นโครงการที่ต่อเนื่อง ซึ่งทางหน่วยงานราชการให้ความเชื่อถือกับธนาคารปุ๋ยอินทรีย์แห่งนี้ ในเรื่องของกระบวนการผลิต และกลุ่มเกษตรกรในชุมชนของ บ.ปาเต๊ะเหนือ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 45 ชุมชนของโครงการ 9101 ที่ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งเป็นสูตรมาตรฐานของกรมพัฒนาที่ดิน โดยได้งบประมาณ จำนวน 5 ล้านบาท ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 600 ตัน ซึ่งจะเป็นค่าแรง ครึ่งหนึ่ง ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยจะจ้างเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร หรือที่เรียกว่าเกษตรกรป้ายเขียว เงินจึงถูกแบ่งครึ่งหนึ่งตามนโยบายของรัฐบาล ในส่วนของปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตทั้งหมด 600 ตัน ทางประธานกลุ่ม และคณะกรรมการ ก็จะดำเนินการต่อยอดโดยการขายให้แก่สมาชิก และหน่วยงานราชการต่างๆ โดยตัวปุ๋ยจะผ่านการวิเคราะห์จากกลุ่มวิเคราะห์ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าปุ๋ยที่ผลิตออกมามีคุณภาพดี และจะมีการใส่เชื้อ พด.3 (เชื้อไตรโคเดอร์มา) ให้แก่เกษตรกร ส่วนเงินรายได้ทั้งหมดจากการขายปุ๋ย จำนวน 600 ตัน ก็จะเข้าสู่ระบบบัญชีของธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ และจะมีการปันผลให้แก่สมาชิกนอกเหนือจากค่าแรงด้วย

 “ณ วันนี้เกษตรกร บ.ปาเต๊ะ และพื้นที่ ต.เจ๊ะบิลัง ที่ทางธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ให้ความรู้อยู่ จะมีรูปแบบของการจัดทำแปลงสาธิต เกษตรกรจะมาขอรับปุ๋ยที่นี่ แล้วค่อยจ่ายเงิน หรืออาจได้รับปันผลเป็นปุ๋ยอินทรีย์แทน ซึ่งหากย้อนไปดูก่อนที่จะมีการจัดตั้งธนาคารปุ๋ยฯ ขึ้นมา ทำไมงานของธนาคารปุ๋ยอินทรีย์จึงไม่คืบหน้า เนื่องจากว่าบางครั้งผู้ผลิต ซึ่งเป็นตัวกลุ่มผู้ผลิตธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ไม่ให้สมาชิกนำปุ๋ยไปใช้ ตัวสมาชิกเองจึงไม่ใช้และไม่ยอมรับ แต่หลังจากที่เราดำเนินกิจกรรมตรงนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง 45 ชุมชน ของจังหวัดสตูลที่ได้รับงบประมาณมา มีอย่างน้อยครึ่งหนึ่งที่ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพ โดยทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ขบวนการต่อยอดต่อไป” นายมงคล กล่าว

 

ด้านนายกอหนี  เหตุฉูนุ้ย  ประธานกลุ่มธนาคารปุ๋ยอินทรีย์จังหวัดสตูล สาขาย่อยบ้านปาเต๊ะเหนือ และเป็นหมอดินอาสาประจำจังหวัด ของสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดสตูล กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อโครงการ 9101 เข้ามา ก็สามารถเชื่อมต่อให้พี่น้องเกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์กันมากขึ้น เนื่องจากโครงการนี้ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี โดยการมอบปุ๋ยอินทรีย์ให้หมู่บ้านละ 100 ตัน แจกจ่ายให้พี่น้องเกษตรกรทุกครัวเรือนที่ทำการเกษตรได้ทดลองใช้ เพื่อให้รู้ว่าเมื่อใช้ปุ๋ยอินทรีย์มาปรับปรุงบำรุงดินแล้ว คุณภาพดินจะดีขึ้นและมีความยั่งยืนมากขึ้นได้อย่างไร ซึ่งคาดว่าในอนาคตหากพี่น้องเกษตรกรเห็นผลดีจากการทดลองใช้ปุ๋ยอินทรีย์แล้ว โรงงานผลิตปุ๋ยของเราน่าจะผลิตขายแทบไม่ทันอย่างแน่นอน