ป้องกัน!โรคดอกเน่าดาวเรือง!

 

 

เนื่องจากช่วงนี้สภาพอากาศมีความชื้นสูง กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกดาวเรืองในทุกภาคของประเทศ ขอให้เฝ้าระวังการเกิดโรคดอกเน่า โดยเฉพาะดาวเรืองที่อยู่ในระยะเริ่มออกดอกถึงระยะดอกบาน ซึ่งมักพบโรคนี้ระบาดในช่วงฤดูฝนหรือในช่วงสภาพอากาศมีความชื้นสูง

         โรคดอกเน่าเป็นโรคที่สำคัญ และทำความเสียหายแก่ดอกดาวเรืองทำให้ไม่สามารถเก็บผลิตขายได้ ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงดาวเรืองอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการ ให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านเพื่อหาแนวทางดำเนินการควบคุม และป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง จากเชื้อสาเหตุ เชื้อรา Alternaria sp.เชื้อรา Botrytis sp.
และเชื้อรา Colletotrichum sp.

 

ลักษณะอาการ
         - อาการที่เกิดจากเชื้อรา Alternaria sp. จะเริ่มแสดงอาการตั้งแต่ออกตุ่มดอก จนถึงช่วงที่ดอกกำลังพัฒนา เชื้อราเข้าทำลายก้านดอก กลีบเลี้ยง กลีบดอก ทำให้กลีบเลี้ยงไหม้เป็นสีน้ำตาล โดยเฉพาะส่วนของกลีบดอกจะทำให้กลีบดอกช้ำ

         ในฤดูฝนกลีบดอกจะไหม้เปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีน้ำตาล แผลเน่าแห้งมีผงเชื้อราสีเทาหรือดำขึ้นปกคลุมอยู่บนกลีบดอก ถ้าเชื้อเข้าทำลายช่วงดอกกำลังบานจะทำให้กลีบเลี้ยงเน่ารัดตัว ดอกไม่บาน หรือทำลายบริเวณฐานรองดอกจะมีแผลสีน้ำตาลอ่อนข้างใดข้างหนึ่ง ทำให้ลักษณะดอกดาวเรืองที่เป็นโรคนั้นบานครึ่งเดียว

         - อาการที่เกิดจากเชื้อรา Botrytis sp. จะเกิดขึ้นหลังดอกบานเต็มที่แล้ว โดยบริเวณกลางดอก โคนดอกกลีบดาวเรืองจะเริ่มมีแผลสีน้ำตาล และจะลามไปทั้งดอก ทำให้ดอกเน่าแฉะ ตอนเช้าอาจสังเกตเห็นก้านชูสปอร์ และสปอร์ของเชื้อรางอกอยู่บริเวณแผลโดยสปอร์จะปลิวไปตามลม ทำให้เกิดการระบาดทั่วทั้งแปลง และ

 

 

         - อาการที่เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum sp. หากเกิดในระยะที่ดอกกำลังเริ่มเป็นดอกตูมจะทำให้ดอกไม่สามารถบาน หากเชื้อเข้าทำลายในระยะที่ดอกบานอาการเน่าเป็นวงแหวน บริเวณกลางดอก โดยดอกที่เกิดโรคกลีบดอกจะเน่าเป็นสีน้ำตาลลามเข้าไปทางโคนกลีบ ทำให้ดอกมีสีน้ำตาลดำ เชื้อเข้าทำลายจากดอกลามสู่ลำต้น

การแพร่ระบาด
          สปอร์ของเชื้อราจะติดไปกับเมล็ดพันธุ์ ปลิวไปตามลม และแพร่กระจายไปกับน้ำที่รด หรือกระเด็นไปกับน้ำฝน พบการเกิดโรคตลอดปี จะทำความเสียหายในฤดูฝนช่วงความชื้นสูง

วิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้

            ๑.สำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ

            ๒.หากพบว่ามีอาการของโรคภายในแปลงปลูกให้เก็บแล้วเผาทำลายเพื่อป้องกันการระบาดของโรคไปยังต้นอื่นๆ

 

 

            ๓.ให้ระมัดระวังการให้น้ำ อย่าให้ชุ่มมากจนเกินไป โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน หรือในช่วงที่มีอากาศร้อน นอกจากนี้ในแปลงปลูกหากสามารถใช้ระบบน้ำหยด จะสามารถ ลดการเปียกของต้นทำให้ลดการระบาดของโรคได้เป็นอย่างมาก

             ๔.ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา อัตรา ๕๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร รดแปลง หรือพ่นให้ต้นพืช ทุก ๑๕ วัน

             ๕.ถ้าระบาดมาก พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช
                   - คลอโรธาโลนิล อัตรา ๒๐-๓๐ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ

                   - ไซเนบ อัตรา ๕๐-๑๐๐ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
                   - คาร์เบนดาซิม อัตรา ๓๐ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร

ฤดูถัดไป

            ๖.เลือกใช้ต้นพันธุ์ที่ปลอดโรค มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้

            ๗.ควรเลือกพื้นที่ปลูกที่ไม่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน

 

 

            ๘.ใส่เชื้อราไตรโคเดอร์มาลงในดินแปลงเพาะกล้า โดยผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ อัตราส่วน ๐.๕ กิโลกรัม ต่อ ๕๐ กิโลกรัม หว่านลงในแปลงก่อนหว่านเมล็ดพืช

            ๙.ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก อัตรา ๕๐ กรัม ต่อเมล็ดพืช ๑ กิโลกรัม เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อราที่อาจติดมากับเมล็ดพันธุ์

         ที่มา : สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร,www.thongchalerm.com,http://pirun.kps.ku.ac.th/ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์