พลิกวิกฤติ แล้งซ้ำซาก ท่วมซ้ำซาก

พลิกวิกฤติ แล้งซ้ำซาก ท่วมซ้ำซาก

คืนสู่ มิติอู่ข้าว อู่น้ำ

 

โดย - ปรีชา อภิวัฒนกุล

 

สิ่งที่น่าตกใจสำหรับประเทศไทยคือ

         ลงไปชนบทไหนๆ มักเจอปัญหา ท่วมซ้ำซาก แล้งซ้ำซาก

         ด้านหนึ่งของคำ "ซ้ำซาก" ขยายคำข้างหน้าในตัว คือเกิดขึ้นบ่อย ครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างต่อเนื่อง อีกด้านกลับมีนัยทางเศรษฐกิจและสังคมยิ่งยวด

         ในทางเศรษฐกิจ ท่วมซ้ำซาก แล้งซ้ำซาก มีความหมายเดียวคือชาวบ้านยากจนลง ทำกินไม่ได้ ไม่สะดวก ผลผลิตต่ำ รายได้น้อย ในทางสังคม คนยากจนนั้นไม่อาจคิดการอื่นใดได้ ตราบที่ท้องยังหิว จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมการซื้อขายเสียงเลือกตั้ง จึงถือปกติต่างจากคนท้องอิ่มที่มีอิสรภาพในการตัดสินใจได้มากกว่า

         ประเทศที่อุดมด้วยคนจน ประเทศนั้นไม่อาจหาความมั่นคงได้

         น้ำจึงเป็นส่วนสำคัญที่ค้ำจุนความมั่นคงของประเทศได้

         กรมชลประทานเคยยิ่งใหญ่เกรียงไกรเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำ จัดหาน้ำ ก็ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น โครงการขนาดใหญ่ เช่น ทุ่งเจ้าพระยา ทุ่งแม่กลอง ทุ่งรังสิต ทุ่งป่าสัก และ ฯลฯ บางทุ่งกำลังเป็นอดีต ทั้งจากคนทำนาน้อยลง พื้นที่นาหายกลายเป็นพื้นที่บ้านเรือน ชุมชน ย่านการค้า ฯลฯ

         บริบทเก่าเปิดโอกาสให้กรมชลประทานเปิดพื้นที่โครงการได้มากมาย สร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ไม่ยากเย็น ผู้คนยังยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก ผิดกับบริบทใหม่ที่พื้นที่นาน้อยลง คนทำนาพลอยน้อยลง แต่การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทางกายภาพก็ดี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ดี ล้วนทำให้ความบริบูรณ์ที่เคยมีพร่องไปหลายส่วน โดยที่กรมชลประทานเองไม่สามารถเปิดโครงการได้ง่ายดายเหมือนเดิม

         น้ำท่วมซ้ำซาก ส่วนหนึ่งมาจากการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นมากขึ้นซึ่งล้วนกีดขวางทางน้ำ ส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดเพี้ยนของธรรมชาติที่ฝนตกมาก ตกกระจุก แล้งซ้ำซากเกิดจากทั้งความเพี้ยนของฝน

         เครื่องมือในการแก้ไขปัญหา คือการสร้างแหล่งน้ำเพิ่มเติมและการขุดคลองเลี่ยงเมือง

         การพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ทำได้ยากขึ้น ทั้งจากความเหมาะสมของพื้นที่ ผลกระทบต่อพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่ทำกินของราษฎร รวมทั้งการคัดค้านจากนักอนุรักษ์บางกลุ่ม ซึ่งค้านกระทั่งการขุดคลองเลี่ยงเมือง ขณะเดียวกัน ข้อบกพร่องอ่อนด้อยของฝ่ายพัฒนาก็ใช่ว่าจะไม่มีเอาเสียเลย

         ทั้งหลายทั้งปวง จึงต้องมาจบลงที่การมีส่วนร่วมของประชาชน

         จะเป็นกรมชลประทานในฐานะผู้พัฒนาก็ดี กระทั่งกลุ่มคัดค้านในฐานะนักอนุรักษ์ก็ดี สุดท้ายคือการเดินไปสู่กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

         เป็นพื้นที่หรือเวทีที่ต้องทำการบ้านร่วมกัน ตั้งแต่ร่วมตั้งโจทย์ปัญหา การเสาะแสวงหาข้อมูล และการตอบโจทย์ปัญหา

         แม้จะเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย แต่โดยทิศทางอนาคตแล้ว น่าจะเป็นวิธีเดียวที่จะผ่าทางตันของปัญหาได้ โดยเป็นฉันทามติหรือความเห็นร่วมกันหลายฝ่าย แทนที่จะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเหมือนอย่างที่ผ่านมา ส่งผลให้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำแท้งแล้วแท้งอีก

         กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ใช่เพียงภาษาเขียนสวยหรู หากอยู่ที่การกระทำ หากกระทำถูกต้องและเป็นความต้องการแท้จริงของชาวบ้าน โครงการนั้นก็จะเกิดได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะโครงการชลประทานขนาดเล็ก และขนาดกลาง

         ส่วนโครงการขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่มักเป็นข้อขัดข้องระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเองมากกว่า ถึงเวลาต้องสังคายนาเช่นกัน ไม่ใช่ปล่อยให้เล่นล่อเอาเถิด ขนาดคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการแล้ว พวกก็ยังทำไขสือขัดนั่นขวางนี่ จนแทบเคลื่อนโครงการไม่ได้

         ความมั่งคั่งของเกษตรกรไม่มี ความมั่นคงของประเทศย่อมมีไม่ได้เช่นกัน

         แก้ไขท่วมซ้ำซาก แล้งซ้ำซาก ได้ ก็ทำให้ประเทศไทยเดินเข้าสู่ความบริบูรณ์ของคำโบราณที่ว่าอู่ข้าว อู่น้ำ ได้อีกครั้ง