วัชพืช...ประโยชน์เพียบ!

 

 

ข้าสู่ช่วงหน้าฝนเมื่อใด ตามแปลงนาน้อยใหญ่ ริมคูคลอง พื้นที่ที่มีน้ำขัง ที่ชื้นแฉะ ทั่วทุกภาคของบ้านเราจะพบกับวัชพืชอย่าง "ผักแขยง" บางครั้งเรียก ผักกะออม ขึ้นเต็มไปหมด โดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคเหนือ ชาวบ้านจะนิยมนำมาประกอบอาหารหรือกินสด เพราะเป็นผักที่ให้รสเผ็ด กลิ่นหอมฉุน ดับกลิ่นคาวปลาได้ดี อีกทั้ง มีสรรพคุณทางยาที่บรรเทาได้สารพัดโรค

        เป็นวัชพืชพรรณไม้น้ำล้มลุก ฤดูเดียว ในวงศ์ Scrophulariaceae ชื่อท้องถิ่น กะออม กะแยง คะแยง กะแยงแดง ผักพา ฯลฯ

        ลำต้น สูง 10-35 ซม.เรียวยาว ตั้งตรง กลมกลวง อวบน้ำ มีขนหนาแน่น ทั้งต้นมีกลิ่นหอมฉุน เผ็ดร้อน

        ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน กว้าง 3-10 มลม. ยาว 1-3 ซม.ขอบหยัก ปลายแหลม โคนใบห่อติดลำต้น 

        ดอก ช่อกระ ออกที่ซอกใบปลายกิ่ง ดอกย่อย 2-10 ดอก รูปหลอดเล็กๆคล้ายถ้วย ยาว 0.5 นิ้ว ปลายบาน แยกเป็น 4 กลีบ สีม่วง 

 

 

        ผล รูปกระสวย แห้งแตก มีเมล็ดกลมรี สีน้ำตาลดำ เล็กมากอยู่ด้านใน

        ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด และแยกกอปลูก

 

ประโยชน์

       1.ลำต้น ใบ ยอด ลำต้นอ่อน นำมาประกอบอาหาร อาทิ ใส่แกงปลา แกงลียง ต้มแขบ กินเป็นผักจิ้มกับลาบ ซุปหน่อไม้ ส้มตำ น้ำพริก ให้กลิ่นหอมฉุน ดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ได้ดีมาก บางคนไม่นิยมเพราะว่ามีกลิ่นฉุนมาก

       2.ต้นแขยง ต้มน้ำร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ อาทิ สะเดา ใช้ฉีดพ่นแปลงผัก สวนผลไม้ ป้องกันหนอน แมลงต่างๆ

 

 

คุณค่าทางโภชนาการ ผักแขยง (100 กรัม)

       ให้พลังงาน 32 กิโลแคลอรี,เส้นใย 1.5 กรัม,แคลเซียม 55 มิลลิกรัม,ฟอสฟอรัส 62 มิลลิกรัม,เหล็ก 5.2 มิลลิกรัม,วิตามิน A  5,862 ยูนิต,วิตามิน B1 0.02 มิลลิกรัม,วิตามิน B2  0.87 มิลลิกรัม,ไนอาซิน 0.6 มิลลิกรัม,วิตามินC :5 มิลลิกรัม

       ทั้งต้น และใบ พบน้ำมันหอมระเหยประมาณ 0.64% ซึ่งมีฤทธิ์ทางเภสัชกรรม ฆ่าเชื้อโรค ต้านเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย,ออกฤทธิ์ระงับประสาท,ช่วยลดการอักเสบ,ช่วยขยายหลอดเลือด,กระตุ้นระบบประสาท,เสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย

 

 

สรรพคุณทางยา

1.กินหรือดื่มน้ำต้ม

        ลำต้นอ่อนและใบ คือส่วนที่นิยมกินหรือต้มน้ำดื่มเพราะเมื่อกินจะรู้สึกเผ็ดร้อน และให้กลิ่นหอมฉุนมาก มีสรรพคุณ เจริญอาหาร,ป้องกันเส้นเลือดอุดตัน,ป้องกันโรคหลอดเลือดในสมอง,ลดไขมันในเส้นเลือด,ลดความอ้วน,แก้ไข้แก้ร้อนใน,แก้มาลาเรีย แก้ไข้รากสาด,กระตุ้นภูมิต้านทาน,บรรเทาอาการไอช่วยให้ชุ่มคอ,ดับกลิ่นปาก,แก้ปวดฟัน,ขับน้ำนม และช่วยให้สตรีหลังคลอดฟื้นตัวได้เร็ว,ช่วยผ่อนคลาย,แก้อาการท้องเสีย อาหารเป็นพิษ,เป็นยาระบายอ่อนๆและช่วยในการขับลม

 

 

2.เป็นยาภายนอก

         2.1 แก้คันจากหญ้า ผื่นต่างๆ ต้มผักแขยง 10-15 ต้นกับน้ำ10 ลิตรใช้อาบ หรือต้นสด 2-3 ต้น ตำบดทาบริเวณที่คันหรือผื่นแดง

         2.2 รักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน อาการคันจากเชื้อรา ต้มผักแขยงก่อนใช้อาบติดต่อกัน 3-5 วัน ทุกๆ 1-2 ครั้ง/เดือน

         2.3 แก้พิษงู แมลงกัดต่อย นำต้นสด 1-2 ต้น ตำบดผสมฟ้าทะลายโจร 1 ต้น เติมน้ำส้มสายชูเล็กน้อย ก่อนนำพอกบริเวณรอบแผล

         2.4 ลำต้นตำ ใช้ประคบเพื่อลดอาการบวมซ้ำ

         2.5 ลำต้น และใบสด ขยำดม แก้วิงเวียนศรีษะ

 

 

ข้อควรระวัง – สตรีมีครรภ์หรือหลังคลอดบุตรบางรายอาจเกิดอาการแพ้ได้

ที่มาข้อมูล : หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย,ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.(ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).“ผักแขยง”หน้า 470-471.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.“ผักแขยง”,ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.“ผักแขยง",มูลนิธิสุขภาพไทย“ผักแขยง",วิกีพีเดีย สารานุกรมเสรี