ปล่อยกู้ 1 หมื่นล้าน!ยกระดับน้ำยางสด

 

 

กยท.มั่นใจราคายางพาราแตะ 70 บาท/กก.ในปีนี้  เฉลี่ยขณะนี้ 58-60 บาท/กก. พร้อมเร่งปล่อยกู้ยกระดับราคาน้ำยางสด วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท 

            นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึง สถานการณ์ราคายางพาราปัจจุบันในการลงพื้นที่ให้กำลังใจและพบปะเกษตรกร. ตลาดยางพารา สหกรณ์ชาวสวนยางไชยปราการ อ.ไชยปราการ,ตลาดน้ำยางข้น สหกรณ์เวียงฝาง การแปรรูปผลิตภัณฑ์ Hug local latex อ.ฝาง. และสวนยางพาราเกษตรผสมผสาน คุณสมจิตร อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ว่า หลังร่วมกับกลุ่ม 5 บริษัทใหญ่ด้านยางพารา ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาราคาปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนกรกฎาคม เดิมราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 กิโลกรัมละ 49 บาท ปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 58-60 บาท แม้จะเป็นการปรับตัวที่ไม่สูงมาก แต่เชื่อว่าเป็นการปรับฐานราคาที่มีเสถียรภาพ 

           ขณะที่ราคาน้ำยางสดอยู่ที่กิโลกรัมละ 52 บาท  ซึ่งปรับตัวเร็วกว่ายางแผ่นและในอนาคตเชื่อว่าน้ำยางสดจะเป็นตัวชี้วัดราคายางที่สำคัญอีกตัวในตลาด เพราะขณะนี้ กยท.มีโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อรับซื้อน้ำยางจากเกษตรกรโดยตรงและนำไปแปรรูป

 

 

นายธีธัช สุขสะอาด 

           โดยขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาว่าจะปล่อยสินเชื่อลักษณะใด ผ่านธนาคารของรัฐธนาคารใดบ้าง เพราะล่าสุดขณะนี้มีผู้ประกอบการเสนอขอสินเชื่อเข้ามาแล้วกว่าร้อยละ 95 และเชื่อว่าจะปล่อยสินเชื่อได้เร็ว ๆ นี้ หากโครงการนี้ปล่อยสินเชื่อเร็วจะช่วยดูดซับปริมาณน้ำยางสดในตลาดได้ถึง 1 แสนตัน และทำให้ราคายางพาราในประเทศปีนี้แตะระดับกิโลกรัมละ 70 บาทได้ 

           พร้อมกล่าวถึง การลงพื้นที่พบปะเกษตรกรครั้งนี้ ว่า  กยท.เดินหน้าผลักดันให้การสนับสนุนและส่งเสริมการปลูกยางพาราตามนโยบายของรัฐบาล โดยเริ่มจากการปรับกระบวนทัศน์ของเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยหันมาปลูกยางตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางที่โค่นยางพาราแล้วยังปลูกพืชเศรษฐกิจหรือปลูกยางพารา จะส่งเสริมให้แบ่งสัดส่วนของพื้นที่เป็นการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ไม่ว่าจะเป็นการขุดบ่อ การทำปศุสัตว์  หรือปลูกพืชท้องถิ่นอื่นๆ ร่วมในแปลงสวนยาง เพื่อให้มีรายได้หมุนเวียนตลอด หรือหากมีพื้นที่ปลูกยางพาราอยู่แล้ว  กยท.จะส่งเสริมให้ปลูกพืชอื่น หรือทำปศุสัตว์ เป็นลักษณะเกษตรแบบผสมผสานควบคู่ 

 

 

          ทั้งนี้  จะเห็นได้จากพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางใหม่อยู่ในความดูแลของ กยท.จังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน มีเกษตรกรชาวสวนยางขึ้นทะเบียนกับ กยท.  2,067 ราย คิดเป็นพื้นที่ปลูกยาง  20,610 ไร่ โดยแบ่งเป็นนิติบุคคล 10 กลุ่ม และสถาบันเกษตรกรและเครือข่ายชาวสวนยาง 79 กลุ่ม มีจุดรวบรวมยางที่เป็นตลาดประมูลยางแบบครบวงจร 15 แห่ง คาดว่าจะรวบรวมยางประมาณ 2,500 ตันต่อปี

 

 

            สำหรับข้อเสนอเกษตรกรที่ต้องการให้ กยท.เข้ามารับซื้อยางเอง เพื่อแข่งขันกับภาคเอกชน เห็นว่าควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากกว่า ถ้าหากรัฐเข้าไปรับซื้อเองจะเกิดความเสี่ยงต่องบประมาณและเป็นภาระของรัฐบาลเหมือนที่ผ่านมา  ส่วนมาตรการใช้ยางในประเทศของหน่วยงานรัฐด้วยงบประมาณ 16,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนกันยายนนี้ โดยจะนำไปใช้หลายรูปแบบ เช่น การสร้างถนน ทำพื้นสนามกีฬา ดังนั้น การผลักดันใช้ในประเทศจะเห็นเป็นรูปธรรมได้ภายในปีนี้