โมเดลชีวิตเกษตรกร...

 

 

หนองแวง โมเดล เป็นแม่แบบผสมผสานการพัฒนาชีวิตเกษตรกร ตั้งแต่แหล่งน้ำ ระบบสูบน้ำ ระบบแพร่กระจายน้ำ เกษตรทฤษฎีใหม่ และการต่อยอดขึ้นไป

           หนองแวง โมเดล มาจากฝายหนองแวง ต.บ้านหนองแวง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ เป็นฝายประชารัฐที่ก่อสร้างด้วยการผนึกกำลังร่วม 4 ฝ่าย ได้แก่ เกษตรกร อบต.หนองแวง บริษัทห้างร้านเอกชน และกรมชลประทาน

           ต้นกำเนิดมาจากความเดือดร้อนของเกษตรกรบ้านหนองแวงที่ขาดแคลนน้ำอย่างหนักในปี 2558 เป็นทั้งปีแห้งแล้งและไม่มีฝายกักน้ำได้แม้แต่น้อย จนต้องร้องขอให้โครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทานที่ 6 ขอนแก่น ช่วยเหลือ

           จะลงทุนสร้างฝายให้ก็ไม่มีงบประมาณในมือ ถ้าเป็นฝายหลักของชลประทานต้องมีงบไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท อย่างนั้นใช้วิธีประชารัฐร่วมแรงร่วมใจกันดีกว่า

           เกษตรกรลงแรงก่อสร้าง ห่อข้าวมากินที่ฝายเลย อบต.เจียดงบมากว่า 5 แสนบาท โครงการก่อสร้างออกแบบฝายให้ โดยมีทีมจิตอาสาบรรเทาภัยแล้งร่วมด้วย และห้างร้านเอกชนช่วยต่อยอดด้วยบริจาคเงินซื้อแผงโซลาร์เซลล์ เครื่องสูบน้ำ ถังเก็บน้ำและระบบน้ำหยด

           เป็นประชารัฐตามนโยบายรัฐบาลและลดค่าใช้จ่ายเกษตรกรตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปี 2558

 

 

           ฝายหนองแวงประชารัฐใช้เทคนิคก่อสร้าง ซอยล์ ซิเมนต์ (Soil Cement) คือดินผสมผงปูน ดินก็ใช้ดินตรงนั้น ปูนผงก็ใช้ปูนปอร์ตแลนด์ ขนาดความกว้างเท่าลำน้ำชี 20 เมตร สันฝายกว้าง 1 เมตร ระดับความสูง 2.50 เมตร เจาะหูฝาย 2 ข้างเพื่อความแข็งแรง พื้นไม่ต้องขุดร่องแกนเพราะพื้นเป็นพลาญหินอยู่แล้ว เจาะตั้งเสาใส่ซอยซีเมนต์

          3 ปีจนถึงวันนี้ยังปักหลักสู้กระแสน้ำชีที่ไหลเชี่ยวได้สบายๆ เหนือฝายมีสถานีสูบ 3 ตัว สูบน้ำวันละ 10,000 ลูกบาศก์เมตร/ตัว ทั้งปีสูบน้ำใช้ประมาณ 7 ล้าน ลบ.ม. จากปริมาณน้ำท่า 700 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 1% ของน้ำท่า

          เพื่อให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด ทีมงานจิตอาสาบรรเทาภัยแล้ง ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการชลประทานเกษียณ 2 คน นักประดิษฐ์ นักส่งเสริมการเกษตร รวมทั้ง นายภัทรพล ณ หนองคาย ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทานที่ 6  ซึ่งรับผิดชอบโครงการชลประทานขนาดเล็ก 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด  มหาสารคาม และ ชัยภูมิ คิดอ่านใช้เกษตรทฤษฎีใหม่ผ่านศูนย์เรียนรู้เกษตรหนองแวง ซึ่งเป็นที่ดินของ นายอารี ศรีนวลจันทร์ ซึ่งปกติทำนาและไร่อ้อยเท่านั้น

          แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นการผสานความคิดประยุกต์เข้าไปด้วย 

 

 

          ความมั่นคงของน้ำ แม้จะได้น้ำจากฝายหนองแวงประชารัฐ ยังไม่พอ ยังมีสระเก็บน้ำในไร่ตัวเอง มีบ่อบาดาล สำรองอีกชั้นหนึ่ง

          ระบบสูบน้ำทำไงให้ประหยัด ใช้สูบน้ำด้วย ระบบโซลาร์เซลล์ หรือพลังงานแสงแดด อุปกรณ์ที่หาซื้อในตลาดราคาถูกประกอบได้เอง และเครื่องสูบน้ำที่เรียกปั๊มชักที่มีอยู่แล้ว ผสมผสานกับระบบเจ็ทที่จะสูบน้ำได้ลึกได้สูงกว่า 30 เมตร และราคาประหยัดอีก โดยสูบน้ำขึ้นไปไว้ในถังความจุ 2,000 ลิตร จำนวน 2 ถังเพื่อส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง

           ราคาอุปกรณ์สูบน้ำเหล่านี้ ถ้าซื้อสำเร็จรูปแบบอีเลกทรอนิกส์ ต้องใช้เงินนับแสนบาท แต่งานนี้ลงทุน 3 หมื่นบาท แถมเสียก็ซ่อมได้เอง ซื้ออุปกรณ์ในท้องตลาดทำเอง ไม่ต้องซื้อยกชุดเหมือนของแพงๆ

           มีระบบสูบน้ำแล้วยังไม่พอ ยังคิดถึงการใช้น้ำที่มีจำกัดให้ประหยัดสูงสุดด้วย นั่นคือ ระบบชลประทานน้ำหยด ผ่านท่อขนาดเล็ก เจาะรูติดตั้งอุปกรณ์จิ๋วให้น้ำหยดตามต้นพืช ไม่เหวี่ยงแหสิ้นเปลือง น้ำเท่ากันแต่ได้พื้นที่มากกว่า

 

 

           พืชที่ปลูกนอกจากมีความหลากหลายของพืชกิน พืชขาย ยังปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทั้งใช้ทั้งกินได้อย่างไม้ผล มีบ่อปลา มีคอกเลี้ยงสัตว์ ครบสูตร ทีมงานยังคิดใช้น้ำให้เกิดประโยชน์ด้วยการเพิ่มชื่อพืชใหม่ๆ ที่ราคาดี เช่น มันญี่ปุ่น องุ่นดำ องุ่นเขียว แต่จำกัดพื้นที่ปลูก หากมีปัญหาความเสียหายจำกัดวง

           พื้นที่สวนหลายไร่ของ อารี ศรีนวลจันทร์ เกษตรกรคนขยัน เจียดมา 15 ไร่เป็นศูนย์เรียนรู้ ชั่วแวบเดียวกลายเป็นสวนสารพัดอย่าง  ใช้และขายได้ทุกอย่าง รายได้เข้ามือทุกวัน 500-1,000 บาท เป็นศูนย์เพื่อเกษตรกรเข้ามาเรียนรู้ แลโซลาร์เซลล์ ยังช่วยให้มีแสงสว่าง และเครื่องอำนวยความสะดวก โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

           จากหนองแวง โมเดล โครงการก่อสร้างฯ และทีมอาสาบรรเทาภัยแล้งนำไปขยายผลเองที่ โครงการชลประทานบ้านเสาเล้า ต.กุดเพียขอม อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ฝายชลประทานสร้างเสร็จแล้ว ก็นำน้ำมาใช้ด้วยหลักคิดเดียวกัน แม้วันนี้ยังเริ่มต้น แต่เกษตรกรแปลงตัวอย่างเริ่มตระหนักแล้วว่า พวกเขาเห็นอนาคตจากการมีน้ำทำกินด้วยระบบประหยัดทุกอย่าง

           นายวีระ มีนา ด้านหนึ่งมีอาชีพครู อีกด้านเป็นเกษตรกร เล่าว่า พื้นที่บริเวณนี้ปกติแห้งแล้ง พอมีฝายชลประทานก็ชุ่มชื่น พื้นที่ตัวเองแม้อยู่ท้ายฝายอาศัยสูบน้ำในฤดูฝนใส่นาได้ เพราะไม่มีสระเก็บน้ำ เนื่องจากพื้นที่เล็กเพียง 4 ไร่ แต่ขุดบ่อบาดาลพร้อมระบบสูบน้ำโซลาร์เซลล์ ซึ่งประหยัดค่าใช้จ่ายมาก 

 

 

          “เดิมทำนาปีช่วงฤดูฝน พอฤดูแล้งปล่อยทิ้งว่างไม่ได้ทำอะไร เพราะไม่มีน้ำ ตอนนี้ทำได้ตลอดทั้งปีแล้ว ผมจะปลูกพืชตามเกษตรทฤษฎีใหม่ กะว่าจะให้เด็กนักเรียนมาดูงาน และที่ตรงนี้เป็นขนำ ต่อไปจะสร้างบ้านเล็กๆ และ วางแผนใช้เป็นที่พักหลังเกษียณ เพราะถึงระบบไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง แต่เรามีไฟฟ้าใช้จากระบบโซลาร์ เซลล์”

           นายภัทรพล ณ หนองคาย ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้าง เป็นทั้งนักก่อสร้าง และนักคิดในการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด กล่าวว่า ปกติเกษตรกรทำงานปีละ 4-6 เดือนเท่านั้น จากนั้นอพยพไปขายแรงงานในเมือง เพราะไม่มีน้ำทำกิน พอมีฝายประชารัฐ ฝายชลประทานขึ้นมา บวกกับหลักคิดใช้น้ำประหยัด ประสิทธิภาพสูงสุด ก็สามารถทำเกษตรได้ทั้ง 12 เดือน

           เกษตรกรทำงานได้ 12 เดือนใน 1 ปี เท่ากับสร้างรายได้ตัวเอง สร้างครอบครัวที่อบอุ่น ชุมชนที่เข้มแข็งตามมา

          “เกษตรกรจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ มีครอบครัวอบอุ่น ไม่ต้องจากลูกจากเมียไปไหนอีกแล้ว”

           ข้อดีจากฝายประชารัฐ นอกเหนือจากกักน้ำไว้ในลำน้ำแล้ว ยังเพิ่มระดับน้ำใต้ดินอีกด้วย และถ้าใช้ก่อสร้างฝายระบบนี้ไปตามลำน้ำเป็นระยะๆ ก็เท่ากับเพิ่มน้ำให้พื้นที่ โดยต้นทุนที่ต่ำ แต่ประโยชน์สูงค่า

 

นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ

           นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน กล่าวว่า  ผลงานของโครงการก่อสร้างและทีมอาสาบรรเทาภัยแล้งไปไกลกว่าการสร้างฝายประชารัฐอย่างเดียว หากแต่ยังไปถึงความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจากการใช้น้ำ เช่น การใช้ระบบสูบน้ำโซลาร์เซลล์ การใช้ระบบน้ำหยด การใช้เกษตรทฤษฎีใหม่ และการต่อยอดปลูกพืชที่มีอนาคต

          “ผลงานของที่นี่ส่งผลกระเทือนไปยัง อบต.อื่นๆ โดยมีการสร้างฝายแบบนี้ 47 แห่ง ซึ่งยังไม่สุดทาง เพราะยังไปถึงระบบสูบน้ำ การสร้างแหล่งน้ำสำรอง การใช้เกษตรทฤษฎีใหม่จนถึงการใช้ระบบน้ำหยดที่คุ้มค่าต่อการใช้น้ำแต่ละหยด”

          ทั้งหมดนี้ เป็นคำตอบว่า น้ำคือชีวิตที่เป็นรูปธรรม อันหมายถึงชีวิตที่มีคุณภาพจากการใช้น้ำอย่างถูกต้องด้วย