ลดพื้นที่ทำนามาปลูกอ้อยแปลงใหญ่ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ เดินหน้าเกษตรสมัยใหม่ ขับเคลื่อนโครงการ "สานพลังประชารัฐ เกษตรสมัยใหม่อ้อย จังหวัดอำนาจเจริญ"  เพื่อแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรใน 3 เรื่อง คือ ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยยึดแนวนโยบายกระทรวงเกษตรฯ คือ ลดต้นทุน เพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เป็นหนึ่งในนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งปรับเปลี่ยนระบบการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรรายย่อย มาสู่การรวมกลุ่มที่สามารถใช้เครื่องมือ เครื่องจักรกลมาช่วยในการผลิต เข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น มีความสามารถในการจัดการการผลิตผลผลิตอย่างมืออาชีพ ทำให้คุณภาพสินค้าได้มาตรฐานเท่าเทียมกัน สามารถเข้าถึงการตลาดและมีอำนาจต่อรองทางการตลาดสูงขึ้น จากจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ ได้นำไปสู่การส่งเสริมการเกษตรรูปแบบใหม่หรือเกษตรสมัยใหม่ที่บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกษตรกร และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สู่การพัฒนาขยายผลเกิดเป็นแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่เพื่อการพัฒนาระบบการผลิต ซึ่งเกษตรสมัยใหม่ ก็คือการใช้นวัตกรรม การวิจัย และความเจริญก้าวหน้า ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้เกษตรกรใช้ปัจจัยการผลิต และวิธีการปลูกอย่างแม่นยำเพื่อการเพิ่มผลผลิต รวมทั้งการรวมกลุ่มการผลิต เพื่อให้มีขนาดแปลงที่เหมาะสมเชิงเศรษฐกิจ ยังผลให้ประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น ต้นทุนลดลง

โดยปัจจุบันความคืบหน้านโยบายประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ ที่แบ่งกลุ่มสินค้าเป็น 5 กลุ่ม อาทิ พืชเศรษฐกิจหลัก สัตว์บก ประมง เกษตรสร้างรายได้เร็ว (Chash Crop) หนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักที่เกษตรกรสามารถลดพื้นที่ปลูกข้าวคืออ้อย มีราคารับซื้อที่แน่นอน และสิ่งที่รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามผลักดันคือแปลงใหญ่ประชารัฐ เพราะมีเอกชนดูตลาด รัฐให้ความรู้โดยศูนย์ ศพก. 882 ศูนย์ทั่วประเทศจะเป็นเสาหลักแนะนำเกษตรกร ซึ่งเมื่อพูดถึงลักษณะของเกษตรแปลงใหญ่อ้อย หลายคนคงคิดถึงไร่อ้อยโรงงานที่เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ผืนเดียวกัน แต่จริงๆแล้ว เกษตรแปลงใหญ่คือการรวมกลุ่มของเกษตรกรในหลายๆ พื้นที่เข้าด้วยกัน อย่างเช่น ที่ตำบลกุดปลาดุก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ที่มีการรวมกลุ่ม เกษตรกร 10 ราย เนื้อที่รวมกัน จำนวน 121 ไร่

สำหรับแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (อ้อยโรงงาน) จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่การทำเกษตรไม่เหมาะสม จากเดิมทำนาแต่ไม่ได้ผลแล้วหันมาปลูกอ้อยแทน ซึ่งมีพื้นที่รวม 7,323 ไร่ รวม อำเภอ พื้นที่มีความเหมาะสมพื้นที่พื้นที่ N ของข้าว 3,450 ไร่ ปรับเปลี่ยนปลูกอ้อย 3,047 ไร่ แปลงมีเกษตรกรสมาชิก 534 ราย กลุ่มใหญ่ 3 กลุ่มมี Smart Farmer 200 คน สินค้าอ้อยโรงงานและพันธุ์อ้อย ผลผลิตรวม 8,678.4 ตัน มีการดำเนินงานจัดเตรียมข้อมูลพื้นฐานสมาชิกแปลงใหญ่ ถ่ายทอดความรู้ในการบริหารจัดการองค์กรเกษตรในแต่ละแปลง/การรวมกลุ่มเกษตรกร ถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกร หลักสูตรการบริหารจัดการการตลาด/เชื่อมโยงการตลาด โดยมีเป้าหมายในการลดต้นทุนการผลิตร้อยละ 7.18 ลดต้นทุนจาก 11,150 บาท/ไร่ เป็น 10,350 บาท/ไร่ เพิ่มผลผลิต ร้อยละ 20 จาก 10 ตัน/ไร่ เป็น 12 ตัด/ไร่ กิจกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดต้นทุนการผลิตส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชตระกูลถั่ว หรือปอเทืองบำรุงดิน ไม่เผาใบอ้อย ลดการอัดแน่นของเครื่องจักรเหยียบย่ำ (Control Traffic) ลดการไถพรวนเพื่อรักษาโครงสร้างดิน เพิ่มผลผลิตใช้พันธุ์คุณภาพดีใช้ปุ๋ยเหมาะสม จัดระยะปลูกรองรับรถตัดอ้อย 1.65 เมตรขึ้นไป ไถดะลึก 40 เซนติเมตร ลงริบเปอร์ฝังปุ๋ยอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าผลผลิต ปฏิบัติตามคำแนะนำของบริษัทและดูแลรักษาต่อเนื่องบริหารจัดการ บริหารจัดการแปลงแบบ Mitrphol Modern Farm มาตรฐาน Bonsucro เป็นต้น

ด้าน นายชาญชัย สุภิวงศ์ ประธานแปลงใหญ่อ้อย อำเภอเมืองอำนาจเจริญ กล่าวว่า เริ่มปรับพื้นที่นาที่ไม่เหมาะสมมาปลูกอ้อย และเข้าร่วมโครงการเกษตรสมัยใหม่ นำรูปแบบเทคโนโลยี มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม มาปรับใช้เมื่อปลายปี 2559 เนื่องจากเดิมทำนา แต่ได้ผลผลิตไม่แน่นอน ทำมานานหลายปีไม่มีกำไร จึงนำเอารูปแบบเทคโนโลยี Mitrphol Modern Farm มาปรับใช้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมด้านการบริหารการจัดการไร่อ้อย ตามแบบฉบับของกลุ่มมิตรผล ที่ได้รับการพัฒนามาจากองค์ความรู้และเทคโนโลยีโดยใช้หลัก 4 เสา นำมาปฏิบัติ คือ 1.พักดินและปลูกพืชปรุงบำรุงดิน 2.การควบคุมแนวล้อวิ่งของแทรกเตอร์และเครื่องจักรกล 3.ลดการไถพรวน และ 4.การทิ้งใบอ้อยคลุมดิน ซึ่งพบว่าช่วยเพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 25 จากผลผลิตเดิม 12 ตัน/ไร่ เพิ่มเป็น 15 ตัน/ไร่ พร้อมทั้งมิตรผลเข้ามาประกันราคาตลาดที่แน่นอน ตามราคาอ้อยโรงงาน 1,050 บาท/ไร่ และอ้อยพันธุ์ 1,200 บาท/ตัน และค่า C.C.S. ความหวานเกิน 10 ราคาเพิ่ม C.C.S.ละ 63 บาท

 

ก่อนการรวมกลุ่มแบบเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อนเกษตรกรยังไม่มั่นใจ เพราะอาจจะยังไม่มีศักยภาพเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่เมื่อเห็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการนำเทคโนโลยีมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมาใช้จึงเป็นแรงจูงใจ เพราะในช่วงรอเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยยังมีรายได้จากพืชตระกูลถั่ว ปอเทือง ที่รัฐและเอกชนเข้ามาสนับสนุนอีกทางหนึ่ง อีกทั้งปัจจุบันยังมีระบบการจัดการลดต้นทุนการผลิต โดยไม่ใช้สารเคมี พึ่งพาตนเองโดยการใช้ปุ๋ยสั่งตัด และนำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลขนาดใหญ่มาช่วยในการผลิต จึงทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำเกษตรกรรมและมีรายได้เหลือเพิ่มขึ้นนายชาญชัย กล่าว