แก้มลิงเหนือนครสวรรค์

โดย - ปรีชา อภิวัฒนกุล

แก้มลิงเหนือนครสวรรค์

สวรรค์รำไร รองรับน้ำหลากมา

 

ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนเต็มตัว

         แม้ช่วงของฤดูจะยาวตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงตุลาคมของทุกปี ยกเว้นภาคใต้ที่อาจเหลื่อมเลยไปบ้างตามการเคลื่อนตัวของลมมรสุมประจำปี ซึ่งเริ่มจากภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก ก่อนตบท้ายลงภาคใต้เป็นลำดับท้ายสุด

         แต่ช่วงเวลาที่ฝนตกหนักมีเพียง 3 เดือนสุดท้ายก่อนลาจาก คือเดือนสิงหาคมจนถึงตุลาคม เพราะนอกจากลมมรสุมที่พัดพาฝนมาให้เป็นประจำแล้ว ยังมีพายุจรเคลื่อนเข้ามาสมทบด้วย

         เซินกาเป็นพายุจรและสำแดงอิทธิฤทธิ์จนน้ำท่วมภาคเหนือและภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดสกลนครสาหัสกว่าใครอื่น ค่าที่น้ำท่วมรวดเร็วตั้งตัวไม่ติดเป็นแห่งแรกก่อน จังหวัดอื่นอย่างนครพนม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยังมีเวลาพอตั้งตัว

         เหตุการณ์มหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่และท่วมนานมากในปี 2554 นั่นเป็นอิทธิฤทธิ์อิทธิพลของพายุจรที่ก่อตัวเป็นไต้ฝุ่นในทะเลจีนใต้ แล้วเคลื่อนตัวโจมตีเป็นระลอกๆ ต่อเนื่องกัน 4-5 ลูกซ้อน แม้จะอ่อนตัวเป็นดีเปรสชั่น กระนั้นก็หอบเอาฝนมาตกในประเทศไทยอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยไม่หยุดพักหายใจให้ระบายน้ำได้ทัน

         แนวคิดเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง เริ่มมีข้อจำกัดด้านสถานที่ที่เหมาะสมในการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าที่อยู่ภายใต้หน่วยงานอนุรักษ์ทำให้การพัฒนาแหล่งน้ำทำได้ช้าลงหรือบางกรณีทำไม่ได้ด้วยเงื่อนไขทางกฎหมายรวมทั้งการคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์

         กรมชลประทานเองต้องพยายามหาแนวทางผสมผสานที่จะได้ปริมาณน้ำตอบสนองความต้องการของประเทศและประชาชนในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่มีสัดส่วนประชากรมากที่สุด และยังอยู่ในภาวะยากจนเป็นส่วนใหญ่ได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เป็นภาระของประเทศ ขณะเดียวกันยังเสริมสร้างความมั่นคงให้ประเทศอีกด้วย

         ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าอุทกภัยปี 2554 ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำสาขามาก เกิดความเสียหายครั้งใหญ่เท่าที่มีการบันทึกข้อมูลมาในอดีต รัฐบาลมีแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาวแบบบูรณาการ หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ทุ่งนาที่มีน้ำท่วมเป็นประจำให้เป็นที่ควบคุมน้ำชั่วคราวในช่วงอุทกภัย และนำน้ำที่เก็บไว้มาใช้ให้เกิดประโยชน์

         กรมชลประทานได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือจังหวัดนครสวรรค์ โดยผลการศึกษาแล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2560 ที่ผ่านมา

         ผลการศึกษาด้านวิชาการ รวมทั้งการหารือผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ว่าโครงการแก้มลิงเหนือนครสวรรค์ ประกอบด้วยพื้นที่แก้มลิงย่อยทั้งหมด 69 พื้นที่ ในเขต จ.สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ครอบคลุมพื้นที่ 24 อำเภอ 153 ตำบล สามารถกักเก็บน้ำชั่วคราวได้ 2,049 ล้านลูกบาศก์เมตร

         เท่ากับความจุเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 2 เขื่อนทีเดียว!!!

         โดยจำแนกเป็นทุ่งนาในเขตชลประทาน 723 ล้าน ลบ.ม. และทุ่งนานอกเขตชลประทาน 1,326 ล้าน ลบ.ม.

         ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า นอกจากเก็บกักน้ำชั่วคราวได้มากถึง 2 เขื่อนป่าสักฯ แล้ว ยังเกิดผลานิสงส์ต่อพื้นที่นอกเขตชลประทานซึ่งไม่มีแหล่งน้ำชลประทานและระบบชลประทาน เป็นการเติมเต็มปัจจัยการผลิตที่เกษตรกรต้องการอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับพื้นที่ในเขตชลประทานที่ยังมีแหล่งน้ำชลประทานและระบบชลประทาน

         อย่างไรก็ตาม ลำพังแก้มลิงธรรมชาติ ประโยชน์ใช้สอยอาจด้อยกว่าเมื่อเพิ่มการจัดการเข้าไป เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคารชลประทานที่ใช้ในการควบคุมน้ำ เช่น ประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ ถนน หรือคันคลองที่ใช้เป็นคันกั้นน้ำ ซึ่งประชาชนสามารถใช้สัญจรได้ด้วย เป็นต้น

         แนวคิดของบริษัทที่ปรึกษาคืออาจออกกฎระเบียบหรือตรากฎหมาย อาทิ การจัดตั้งองค์กรที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่แก้มลิง การใช้ประโยชน์ และการดูแลผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่แก้มลิง รวมทั้งพัฒนาการเกษตร การปรับเปลี่ยนปฏิทินการปลูกพืชให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่แก้มลิง

         เป็นครั้งแรกๆ ที่เห็นความชัดเจนในกระบวนการพัฒนาแก้มลิงที่ก้าวไปถึงการจัดการภายในแก้มลิง โดยออกกติกาว่าด้วยการจัดการน้ำ การดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมพื้นที่หรือผลผลิตเสียหาย และการพัฒนาการเกษตร

         "ต้องไปทำควบคู่กันไป ถ้ามีแต่แก้มลิงอย่างเดียวแล้วไม่มีระบบเข้าไปจัดการก็อาจไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควรและอาจทะเลาะวิวาทกันได้ เพราะการบริหารจัดการแก้มลิงต้องเป็นความเห็นชอบของเกษตรกร เพราะส่วนใหญ่เป็นการใช้พื้นที่ของเกษตรกรโดยตรง จึงต้องดูแลให้รอบด้าน" ดร.สมเกียรติกล่าว

         การพัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำ 69 พื้นที่ มีค่าลงทุนโครงการประกอบด้วยค่าสำรวจ ค่าออกแบบรายละเอียด ค่าจัดซื้อที่ดินที่จำเป็นในการก่อสร้างองค์ประกอบโครงการ รวมเป็นเงิน 29,000 ล้านบาท และค่าบริหาร และบำรุงรักษารวมทั้งค่าสูบน้ำด้วยไฟฟ้าต่อปี 1,350 ล้านบาท รวมทั้งงบประมาณที่ต้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) ซึ่งกำหนดไว้เฉลี่ยปีละ 52 ล้านบาท

         ดูเหมือนเป็นค่าลงทุนที่เป็นตัวเลขที่ไม่น้อย

         แต่เมื่อพิจารณาผลการศึกษาในส่วนของประโยชน์โครงการพบว่า เมื่อพัฒนาพื้นที่แก้มลิงครบ 69 พื้นที่แล้ว

         1.ครัวเรือนที่อยู่ในพื้นที่แก้มลิงควบคุม 57,325 ครัวเรือน ประชากร 163,627 คน จะได้รับประโยชน์ด้านการบรรเทาน้ำท่วมในฤดูฝน

         2.ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน ท้ายน้ำจากพื้นที่แก้มลิงไปถึงจุดบรรจบแม่น้ำปิงที่ จ.นครสวรรค์ 122,315 ครัวเรือน ประชากร 348,309 คน และประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะได้รับประโยชน์จากการบรรเทาน้ำท่วมจากการใช้พื้นที่แก้มลิงเช่นกัน

         3.สรุปเป็นผลประโยชน์เฉลี่ยตามโอกาสของการเกิดน้ำท่วมปีละ 11,300 ล้านบาท

         ถ้าคิดแบบง่ายๆ ลงทุน 29,000 ล้านบาท ได้ประโยชน์เฉลี่ยปีละ 11,300 ล้านบาท ใช้เวลาไม่นานก็คืนทุนและได้รับผลกำไรเป็นความสุขของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำและประชาชนในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำสายหลัก รวมทั้งประชาชนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างพลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย ช่างเป็นการลงทนที่คุ้มค่าคุ้มราคามากๆ

         ยิ่งถ้าดูจากโครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือ จ.นครสวรรค์ อย่างทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก 265,000 ไร่ ที่ปรับปฎิทินปลูกข้าวรอบที่ 2 เป็นวันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นปีแรก ก็จะเห็นได้ว่า ข้าวสุกและเก็บเกี่ยวได้มากแล้วและรอดพ้นจากภัยน้ำท่วมแน่นอน เกษตรกรได้เงินจากการขายข้าว เพราะผลผลิตรอดพ้นน้ำท่วม รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย ขณะเดียวกัน เมื่อน้ำหลากก็สามารถผลักเข้าไปเก็บในทุ่งบางระกำได้สำหรับเป็นแหล่งจับปลาสร้างรายได้ให้เกษตรกรอีกทางหนึ่ง เมื่อสิ้นฝนเข้าสู่ฤดูแล้ง สามารถนำน้ำจากแก้มลิงทุ่งบางระกำมาทำนาได้อีกรอบ หมุนเวียนไปเช่นนี้ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย

         สิ่งที่น่าจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่สำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แก้มลิงที่ชัดเจนที่สุดคือการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้าไป เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และแสวงหาทางออกร่วมกันระหว่างกรมชลประทานกับประชาชนในพื้นที่ เท่ากับเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการขับเคลื่อนโครงการโดยประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนครบถ้วนกระบวนการ กลายเป็นฉันทานุมัติจากประชาชนที่มีส่วนได้เสียโดยตรง