นวัตกรรมสมุนไพรจากคัมภีร์ยาไทย

         ปกติจะเห็นแต่ผู้ประกอบการนำสมุนไพร มาพัฒนาเป็นสินค้าก็ว่าน่าสนใจมากแล้ว แต่รายนี้พัฒนาจาก "ตำรับยาไทย" ตอบโจทย์ผู้สูงวัยอีกต่างหาก

         ศิริพัฒน์ มีทับทิม กก.ผจก.บริษัท ช่อคูน เรมิดี้ จำกัด ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ "ช่อคูน" เล่าว่าตอนแรกเขาและธัญญพัทธ์ นิธิศศรีบัณฑิต เพื่อนบ้านซึ่งเรียนจบด้านแพทย์แผนไทย ต้องการนำแพทย์แผนไทยมาบูรณาการสุขภาพ พอเริ่มทำพบว่าคนที่ใช้บริการเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ จึงมีไอเดียว่าควรพัฒนาสินค้าสำหรับกลุ่มนี้โดยเฉพาะ แทนที่จะทำผลิตภัณฑ์ทั่วไปแข่งกับรายอื่น

         "ช่วงแรกเอาตำรับยาทำสบู่ ทดลองตลาด กลุ่มมามากสุดคือคนที่น้ำเหลืองไม่ดี เป็นผู้สูงอายุ ตอนนั้นเหมือนทำรีเสิร์ชว่าจะไปทางไหนดี ก็เจาะกลุ่มผู้มีอายุมาก ผู้ป่วย กลุ่มคนที่น้ำเหลืองไม่ดี เรามีเจลอาบน้ำ พัฒนาเป็นเซรั่ม กลุ่มนี้มีปัญหาคือหากใช้สบู่ทั่วไปจะมีอาการ ระคายเคือง เป็นแผลง่าย แผนไทยมีเอาน้ำสมุนไพรอาบ เพื่อระบายความร้อน ก็เอามาทำเป็นผลิตภัณฑ์ฟอกตัวใช้อาบน้ำได้"

         ส่วนยาสีฟันผลิตขึ้นเพราะเจ้าตัวมีปัญหาเหงือกร่น คอฟันสึก ปกติใช้ยาสีฟันของต่างประเทศ ราคาหลอดละ 700 กว่าบาท จึงต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อทดแทน

         "หาตำรับยาที่เกี่ยวข้อง สมุนไพรรักษาฝีในช่องปาก ชื่อยาสีฟันตำรับทันตมูลา ซึ่งมีในคัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ในพระคัมภีร์ มีสมุนไพรหลัก 8 ตัว เช่น เม็ดผักกาด บอระเพ็ด ฯลฯ เอาทุกอย่างรวมกันแล้วสกัดออกมา เราไม่ดึงเอาตัวใดตัวหนึ่งออกมา แต่รวมกันสู้ ถ้าสมุนไพรตัวเดียวหากใช้ไปนานๆ อาจมีปัญหาต่อต้านได้"

         ผลิตภัณฑ์แบรนด์นี้มีจุดขายคือ แปรรูปสมุนไพรและปรุงตามตำรับไทย ตามพระคัมภีร์แพทย์โบราณ ประกอบกับส่วนผสมที่เป็นธรรมชาติตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากเกษตรอินทรีย์ระดับสากล มีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้สูงอายุชายหญิง ผู้มีผิวบอบบางแพ้ง่าย และมีปัญหาผิวจากน้ำเหลือง

         สินค้าประกอบด้วย เจลอาบน้ำ สบู่-แชมพูจากคัมภีร์ตักสิลา บอดี้เซรั่ม เฟซเซรั่มจากฝักคูน เจลล้างหน้าจากฝักคูน ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปากสมุนไพรสกัด สูตรสมุนไพรทันตะมูลา เจลอาบน้ำแก้ปวดเมื่อจากคัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับขุนนิทเทสสุขกิจ เป็นต้น สนนราคาตั้งแต่ 360-1960 บาท

         กก.ผจก.บริษัท หนุ่มวิศวกรที่ผันตัวมาทำธุรกิจสมุนไพรกล่าวปิดท้ายว่า ตำรับสมุนไพรไทยสามารถสู้ต่างประเทศได้ แต่ต้องมีวิทยาศาสตร์รองรับ และจัดการระบบการผลิตให้เป็นมาตรฐาน

         เรื่อง/ภาพ : สินีพร มฤคพิทักษ์ msineeporn@hotmail.com