แนะขั้นตอนปรับปรุงพื้นที่เกษตรหลังน้ำลด

         จากเหตุอุทกภัยในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ดังนี้

         หลังจากปริมาณน้ำลด และมีน้ำท่วมขังนาข้าวในพื้นที่ลุ่ม เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกโดยเร็ว และปล่อยให้ดินแห้งเพื่อไม่ให้ต้นข้าวเน่าตาย โดยใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพของกรมพัฒนาที่ดิน เช่น น้ำหมักชีวภาพ พด.2 อัตรา 5 ลิตร/ไร่ ใส่ในนาข้าวเพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโต

         หากน้ำท่วมขังแปลงนาต้นข้าวเน่าตาย หรือบ้านเรือนชุมชนในตัวเมืองที่น้ำท่วมขังจนเน่าเหม็น ให้ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.6 ทำสารบำบัดน้ำเน่าเสีย เพื่อช่วยขจัดกลิ่นเหม็น ในอัตราส่วน 1 ลิตร ต่อปริมาณน้ำในนา 10 ลูกบาศก์เมตร ทุก 10 วัน หากมีกลิ่นเหม็นมากให้ใส่ทุก 3 วัน จนกว่าจะหมดกลิ่นเหม็นที่มีน้ำเน่าท่วมขัง

         สำหรับสวนผลไม้ ให้ทำทางระบายน้ำออก ห้ามนำเครื่องจักรหนักเข้าไปเหยียบย่ำในพื้นที่ รวมถึงห้ามเหยียบย่ำบริเวณโคนต้นไม้ เนื่องจากโครงสร้างดินที่ถูกน้ำท่วมนั้นง่ายต่อการถูกทำลาย และดินอาจอัดแน่นจนขาดอากาศ ส่งผลให้ต้นไม้ทรุดโทรมได้

         หากต้นไม้จะล้มให้ทำไม้ค้ำยัน เมื่อดินเริ่มแห้งให้พรวนดินเพื่อให้ดินแห้งเร็วขึ้น

         กรณีเกิดปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าจากเชื้อรา ให้ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ที่มีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าในต้นพืชได้อย่างดี นอกจากนี้ควรทำการพักดินในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมไว้สักระยะหนึ่ง อาจปรับปรุงบำรุงดินด้วยการปลูกพืชตระกูลถั่วเช่น ปอเทือง ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า คลุมดินไว้

         นายสุรเดช เผยอีกว่า วิธีการหล่านี้เหมาะสำหรับฟื้นฟูสภาพดินหลังน้ำลดลง และยังสามารถเตรียมการไว้ก่อนน้ำท่วมได้อีกด้วยหากแน่ใจว่าจะเป็นพื้นที่น้ำท่วมขัง

         "ช่วงปลายฤดูฝน เกษตรกรอาจจะปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดินไว้ก่อน หรือปลูกพืชไร่อายุสั้นที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนน้ำจะท่วม โดยให้ปลูกระยะถี่ๆ ตามแนวขวางความลาดเทของพื้นที่ หรือขวางทิศทางการไหลของน้ำ เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วให้ทิ้งตอซังไว้ไม่ต้องไถกลบ เพราะตอซังจะช่วยลดความรุนแรงของกระแสน้ำไหลบ่า ช่วยยึดหน้าดินไม่ให้น้ำพัดพาออกไปจากพื้นที่ได้" อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวในที่สุด