"แพะ"ไทยไปมาเลย์ปีละกว่าหมื่นตัว!

 

 

 

ก.เกษตรและสหกรณ์ ลงนามเอ็มโอยูซื้อขายแพะมีชีวิตกับมาเลเซีย โดยไทยจะส่งแพะประมาณเดือนละ 1,000 ตัวมูลค่า 40 ล้านบาทต่อปี 

         พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามระหว่างเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะแกะแห่งประเทศไทยกับ บริษัท พรีโม อะโกร เวนเชอร์ ประเทศมาเลเซีย พร้อมทั้ง กล่าวว่า การซื้อขายดังกล่าวจะมีผลทันทีโดยมีกำหนดระยะเวลา 1 ปีและสามารถต่ออายุไปได้อีกหากทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันไม่น้อยกว่า 60 วันก่อนที่ระยะเวลาจะสิ้นสุดลง 

         โดยในปี 2560 คาดว่าไทยจะมีจำนวนแพะทั้งหมดกว่า 645,000 ตัว เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ 50,000 ครัวเรือนซึ่งภาคใต้มีการเลี้ยงแพะมากที่สุด สำหรับการบริโภคแพะในประเทศของคนไทยพบว่า เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 53 จากปี 2558-2559 

 

 

 

          ขณะที่การนำเข้า-ส่งออก ไทยมีการนำเข้าทั้งแพะมีชีวิตและหนังแพะจากประเทศเมียนมาร์ และนำเข้า ขนแพะจากประเทศจีน รวมทั้งนำเข้าสายพันธุ์แพะจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยปริมาณการนำเข้าแพะมีชีวิตในปี 2559 อยู่ที่ 20,573 ตัว คิดเป็นมูลค่า 8 ล้านกว่าบาท และในปี 2559 ไทยส่งออกแพะมีชีวิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน คิดเป็นมูลค่ากว่า 44 ล้านบาท รวมทั้งส่งออกขนแพะไปยังสหรัฐอเมริกากว่า 2 แสนบาท

         นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จะมีการส่งแพะที่ผ่านการตรวจพยาธิและรับรองจากกรมปศุสัตว์ไปประเทศมาเลเซียจำนวนเดือนละ 1,000 ตัวขนาดน้ำหนักตัวประมาณ 25-40 กิโลกรัม มูลค่า 3 ล้านบาทต่อเดือนหรือเกือบ 40 ล้านบาทต่อปี

         ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ ได้มีการจัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ ดังนี้ (1) ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่แพะเนื้อ ซึ่งปัจจุบันมีแปลงใหญ่แพะ จำนวน 22 แปลง เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ เพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพที่ไม่เหมาะสม เป้าหมายแพะ 4,736 ตัว โดยขอใช้เงินกู้ของ ธ.ก.ส และ (3) โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงแพะเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในเขต ส.ป.ก. เป้าหมายแพะจำนวน 1,240 ตัว โดยใช้เงินงบปกติ

 

 

         นอกจากนี้ ยังมีโครงการอื่นๆ เช่น วิจัยและพัฒนาแพะพันธุ์แท้ วิจัยสร้างแพะสายพันธุ์กรมปศุสัตว์ วิจัยและพัฒนาแพะพันธุ์พื้นเมือง และการขยายพันธุ์แพะด้วยการผสมเทียมและการย้ายฝากตัวอ่อน