ปศุสัตว์จัดทีมเคลื่อนที่เร็วช่วยเกษตรกร

 

 

กรมปศุสัตว์จัดทีมเคลื่อนที่ช่วยเหลือเกษตรกร เฝ้าระวังโรคระบาดช่วงน้ำท่วม  พร้อมจัดหญ้าแห้งสำรองใช้ช่วงสถานการณ์น้ำท่วมขัง

         นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ในสถานการณ์ขณะนี้หลายพื้นที่เกษตรกรรมประสบกับภาวะน้ำท่วมขังมีเกษตรกรได้รับผลกระทบจำนวนมาก เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรหันมาสนใจการทำการเกษตรด้านปศุสัตว์ ทั้งสุกร เป็ด ไก่ โค กระบือ แพะ แกะ มากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงพายุฤดูฝน มีฝนตกชุก ทำให้สภาพพื้นที่จะชื้นแฉะและมีน้ำท่วมขัง ดังนั้น จึงอยากฝากเตือนให้เกษตรกรระวังโรคระบาดต่าง ๆ 

         สำหรับสุกรต้องระวังโรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งสุกรที่ป่วยจะแสดงอาการเป็นไข้ มีแผลที่จมูกและกีบ เจ็บขา ส่วนโรคพีอาร์อาร์เอส จะพบสุกรแสดงอาการ ซึม เบื่ออาหาร รวมทั้งแสดงอาการแท้งได้ด้วย  สัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ โรคที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ โรคไข้หวัดนก และโรคหลอดลมอักเสบติดต่อที่อาจสร้างความสูญเสียให้กับสัตว์ปีกจำนวนมาก อาการที่พบ คือ คอตก คอบิด หายใจเสียงดัง หรืออาจมีน้ำมูกไหล

 

 

         ส่วนโค กระบือ แพะ แกะ มักมีปัญหาเรื่องท้องอืด ท้องเสียจากการกินหญ้าอ่อนที่เพิ่งแตกยอดเมื่อได้รับน้ำฝนจำนวนมาก เพราะที่ผ่านมาสัตว์จะกินแต่ฟาง หรือหญ้าแห้งตลอดในช่วงฤดูแล้ง สำหรับโรคระบาดสัตว์ที่ควรเฝ้าระวัง เช่น โรคปากและเท้าเปื่อยซึ่งสามารถพบได้ในสัตว์เคี้ยวเอื้องทุกชนิดโดยสัตว์ป่วยจะแสดงอาการซึม เบื่ออาหาร น้ำลายยืด เป็นแผลที่ปากและกีบ นอกจากนี้ ยังมีโรคคอบวมที่ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงในกระบือและโค ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรค

         นอกจากนี้ ยังมีโรคเลปโตสไปโรสิสหรือโรคฉี่หนู สัตว์อาจติดเชื้อได้จากการสัมผัสเชื้อที่ปนเปื้อนในดินหรือน้ำและเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผลที่ผิวหนังหรือเยื่อเมือกตา จมูกและปาก โดยสัตว์ที่ป่วยจะมีไข้ สัตว์ตั้งท้องอาจแท้ง มีอาการดีซ่านรวมทั้งปัสสาวะมีสีแดง ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่ติดต่อระหว่างสัตว์และคนอีกด้วย

 

 

         ส่วน ในกรณีน้ำท่วมขังนานเกษตรกรควรมีการเตรียมหาพื้นที่สูง เพื่ออพยพสัตว์ไปในที่น้ำท่วมไม่ถึง  และกรมปศุสัตว์ได้จัดให้มีเสบียงพืชอาหารสัตว์ ประเภทหญ้าแห้งไว้สำรองสำหรับสัตว์ที่ประสบปัญหาด้านพืชอาหารสัตว์ไม่เพียงพอ เกษตรกรสามารถประสานติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน หลังจากน้ำลดจะมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าประเมินความเสียหายและช่วยเหลือในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวต่อไป

         สำหรับเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากอุทกภัยครั้งนี้ สามารถแจ้งไปได้ที่ศูนย์อำนวยการป้องกันแก้ไขปัญหาถัยพิบัติด้านปศุสัตว์ โทรศัพท์ 02-6534553 หรือที่ Email - disaster@did.go.th ตลอด 24 ชั่วโมง