พัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐ

โดย - ปรีชา อภิวัฒนกุล

พัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐ

โครงการลุ่มน้ำย่อยคลองกัดตะนาวใหญ่ตอนล่าง

 

 

         คำ "ประชารัฐ" ฟังดูอาจเกร่อ แต่เนื้อแท้ๆ เป็นเรื่องดีที่มีหลักการพัฒนาร่วมทั้งประชา ได้แก่ ประชาชน หรือเอกชนกับรัฐ

         ที่ผ่านมาการพัฒนาของประเทศไทยมาจากการตัดสินของรัฐ ตั้งแต่ต้นจนจบตามที่ตัวเองเห็นว่าดี แต่ "ดี" ของรัฐอาจไม่ดีในสายตาประชาชน แถมสร้างปัญหาโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

         การพัฒนาแหล่งน้ำที่ผ่านมาเริ่มยากลำบากขึ้น และชะงักงันจากการต่อต้านคัดค้านโครงการ ไม่ว่าโครงการนั้นจะสร้างประโยชน์แก่ชุมชนมากมายก็ตาม

         ความไม่รู้ก็ส่วนหนึ่ง แต่เบื้องลึกคือการขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชนเป็นสำคัญ

         กรมชลประทานสำเหนียกปัญหานี้ดี จึงจัดตั้งกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนขึ้นมาดำเนินการเรื่องนี้ นอกเหนือจากที่หน่วยงานดำเนินการเองในพื้นที่อยู่แล้ว

         โดยมีหลักวิชาการการมีส่วนร่วม ซึ่งศึกษาหาองค์ความรู้เอาจากภายนอกหลายแห่งประยุกต์ใช้ เป็นกระบวนการปลุกพลังแห่งการเรียนรู้และแก้ปัญหาร่วมกัน ผสมผสานกับความรู้ด้านการชลประทาน เป็นที่มาของการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์กรมชลประทานที่สอดรับกับนโยบายประชารัฐของรัฐบาลอย่างพอเหมาะพอดี

         ประเดิมโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคตะวันออก โดยสำนักงานชลประทานที่ 9 ประกอบด้วยพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง ปราจีนบุรี จันทบุรี สระแก้ว ตราด นครนายก เป็นลุ่มน้ำย่อย รวม 88 แห่ง

         ลุ่มน้ำย่อยคลองกัดตะนาวใหญ่ตอนล่าง อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว เป็น 1 ใน 88 โครงการข้างต้น

         พื้นที่บริเวณนี้มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำเขาตะกรุบ อ่างเก็บน้ำคลองกัดตะนาวใหญ่ตอนล่าง อ่างเก็บน้ำแพรกกะหมู 1 และ 2

         พื้นที่ลุ่มน้ำบริเวณนี้เดิมทีเป็นผืนป่าใหญ่ ชื่ออำเภอวังน้ำเย็น ก็บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อชาวบ้านจากหลายจังหวัดตั้งแต่อีสาน เหนือ กลาง ใต้ เข้ามาพลิกผืนดินตั้งรกราก ป่าไม้จึงหายไปกลายเป็นพื้นที่ทำกิน จากข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง มะม่วง ปาล์มน้ำมัน เริ่มเข้าสู่พืชหลักอย่างลำไย ซึ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดดนับแต่ปี 2555 จากไม่กี่พันไร่กลายเป็นหลายหมื่นไร่ บ้างก็ว่าแตะแสนไร่แล้วด้วยซ้ำ

         ลำไยเป็นไม้ผลที่ต้องการน้ำมาก นับแต่ช่วงติดผลจนเก็บเกี่ยว 5-6 เดือนคล้ายๆ ทุเรียน

         นี่เป็นสภาพปัญหาน้ำที่กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่จากความต้องการใช้ เนื่องจากลำไยได้ราคาดีประมาณ 35-38 บาท/กิโลกรัม จากตัวแทนล้งจีนที่เข้ามาปล่อยเงินทุนล่วงหน้าให้เกษตรกรและรับประกันราคาซื้อขาย

         ลำพังปริมาณน้ำในเวลานี้ก็ค่อนข้างขัดสนอยู่แล้วจากหลายปัจจัย ทั้งแหล่งน้ำเก่ามีปัญหาตื้นเขินหรือความต้องการมากขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของประชากร รวมทั้งการขยายพื้นที่ปลูกลำไยทำให้ความต้องการสูงขึ้น ในขณะปริมาณน้ำกลับมีจำกัด

         "เขาไม่ได้เอาโครงการมาให้ แต่เขาจะให้พวกเราช่วยกันศึกษาและลองหาทางแก้ไข" ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าให้ฟัง หากเป็นเช่นแต่ก่อน เมื่อเกิดความเดือดร้อนจะขาดแคลนน้ำหรือน้ำท่วม เจ้าหน้าที่รัฐจะมาวางแผนพัฒนาโครงการนั่นนี่ ชาวบ้านได้แต่รอดูและรอรับประโยชน์จากโครงการโดยไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่านั้น

         แต่เมื่อเป็นการพัฒนาแบบประชารัฐ หรือการมีส่วนร่วม ชาวบ้านเองก็ต้องมาเรียนรู้ตัวเอง ประวัติศาสตร์ชุมชนตัวเอง แหล่งน้ำที่มีอยู่ ศักยภาพและปัญหา แนวทางการแก้ไข ฯลฯ ด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยน จัดทำแผนที่เดินดินหรือแผนที่ทำมือ เป็นเครื่องมือให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจในหมู่ชาวบ้านด้วยกัน แทนที่จะเป็นแผนที่ของกรมชลประทาน ซึ่งแม้จะถูกต้อง แต่เข้าใจยาก และไม่มีรายละเอียดด้วยซ้ำว่า เป็นแปลงเกษตรของใคร มีปัญหาลึกตื้นหนาบางอะไร

         ซึ่งกระบวนการมีส่วนร่วมนั้น ชาวบ้านต้องเดินสำรวจพื้นที่ ทำแผนที่ ทั้งแผนที่ชุมชน แผนที่น้ำ ถนน แปลงเกษตร เป็นกระบวนการต่อเนื่องทำแล้วทำอีก และต้องกลับมาให้ชุมชนตรวจสอบความถูกต้อง กระบวนการนี้ค่อยๆ ทำให้ชาวบ้านตระหนักว่า แท้จริงแล้วคนที่จะแก้ไขปัญหาก็คือชาวบ้านนั่นเอง และจะแก้ไขปัญหาได้ ชุมชนก็ต้องเข้มแข็ง ร่วมมือกัน เสียสละเพื่อส่วนรวม

         "เลือกที่นี่เป็นโครงการนำร่องของ จ.สระแก้ว เพราะเห็นว่ามีปัญหาและเราเองก็มีแหล่งน้ำชลประทานอยู่แล้ว น่าจะทำให้เป็นรูปธรรมได้" นายณัฐวุฒิ สร้อยประเสริฐ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานสระแก้ว กล่าว

         นายณัฐวุฒิและทีมงานลงพื้นที่จัดเวทีให้ชาวบ้านล้อมวงพูดคุย ตลอดจนเลือกคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำประชารัฐโครงการคลองกัดตะนาวใหญ่ตอนล่าง ด้วยตัวชาวบ้านเอง

         ชาวบ้านบอกว่า แต่ก่อนถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ชลประทานลงมาก็จะรู้สึกเกรงกลัว แต่จากการสัมผัสในเวทีการมีส่วนร่วม 5-6 ครั้งที่ผ่านมา พวกเขากล้าพูดระบายปัญหาหรือแสดงความเห็นต่อหน้ามากขึ้น ไม่รู้สึกกลัวเหมือนก่อน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องน้ำ ขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็เริ่มยอมรับว่าปัญหาส่วนหนึ่งก็เกิดจากพวกเขาเอง เช่น การใช้น้ำฟุ่มเฟือย การไม่ใส่ใจดูแลแหล่งน้ำชลประทาน เริ่มทำให้ตระหนักคิดว่า

         พวกเขาเองนั่นแหละที่ต้องลุกขึ้นแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ปล่อยให้กรมชลประทานทำอยู่ฝ่ายเดียว ไม่เช่นนั้นปัญหาเดิมก็จะเกิดขึ้นอีก

         นี่เป็นขั้นตอนแรกๆ ของกระบวนการมีส่วนร่วม ยังมีขั้นตอนอื่นๆ อีกที่ทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ปัญหาของเขาเอง ด้วยการลงพื้นที่สำรวจ สอบถามข้อมูลจากในชุมชน

         "เมื่อได้เรียนรู้เรื่องน้ำและแหล่งน้ำ รวมทั้งมีแผนที่ทำด้วยมือตัวเอง เขาก็มีข้อมูลตอบโจทย์สำหรับใช้วางแผน ตั้งแต่การใช้น้ำ การจัดรอบเวร และ ฯลฯ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ แต่กระบวนการนี้ต้องใช้เวลา แต่เมื่อเดินได้แล้วก็จะค่อยๆ เข้มแข็ง ที่สำคัญคือต้องทำอย่างต่อเนื่อง" นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนกล่าว

         ในขณะที่นายณัฐวุฒิ สร้อยประเสริฐ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำฯ กล่าวว่า จากการจัดเวทีการมีส่วนร่วม 6 ครั้งที่ผ่านมา ตนมั่นใจว่าแกนนำชาวบ้านในคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐมีความสามารถขับเคลื่อนโครงการต่อไปได้ด้วยตัวเอง โดยกรมชลประทานเองยังคงคอยสอดประสานในบางเรื่องที่เกินกว่ากำลังชาวบ้านทำได้ เช่น การออกแบบทางวิศวกรรม เป็นต้น

         "ที่สำคัญเป็นเครื่องมือที่จะดึงชาวบ้านให้กลับมารักใคร่สามัคคีแน่นแฟ้นขึ้น แทนการแตกแยกจากการแย่งชิงน้ำกัน"

         "ประชารัฐ" นั้นเป็นภาพใหญ่ โดยมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นอาวุธลับในการขับเคลื่อนที่ฉกาจฉกรรจ์