มือปราบ หนอนหัวดำ

 

 

การใช้สารเคมีเป็นมาตรการหนึ่งในการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำ ศัตรูมะพร้าวด้วยวิธีผสมผสาน เพื่อตัดวงจรการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวอย่างเบ็ดเสร็จและรวดเร็ว ไม่ให้แพร่ระบาดไปยังพื้นที่ แห่งใหม่ รวมถึงพืชชนิดอื่น

นายธงชัย สุทธิพงศ์เกียรติ์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการจัดการสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากต้องใช้สารเคมีอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการแล้วยังต้องใช้ในอัตราที่เหมาะสม เพื่อ ความปลอดภัยต่อตัวผู้ใช้สารเคมีและความปลอดภัยต่อผลผลิตทางการเกษตร การใช้สารเคมีกำจัดหนอนหัวดำก็เช่นกัน ต้องใช้สารเคมีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร เนื่องจากได้มีการศึกษาวิจัยและทดลองยืนยันแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการกำจัดหนอนหัวดำ และไม่มีผลกระทบต่อคนและผลผลิต รวมถึงสิ่งแวดล้อม

 

        ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้สารเคมีกำจัดหนอนหัวดำถูกต้องตามหลักวิชาการ และเกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่  กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้จัดอบรมผู้รับจ้างฉีดสารเคมีเข้าต้นและพ่นสารเคมีทางใบ ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้ โครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่  โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนเพื่อให้ทีมรับจ้างมีความรู้ ความเข้าใจ และทราบถึงขั้นตอนวิธีการฉีดสารเคมีเข้าต้นและพ่นทางใบ สามารถนำไปปฏิบัติงานในพื้นที่รับผิดชอบได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ  ซึ่งทีมผู้รับจ้างฉีดสารเคมีเข้าต้นและพ่นสารเคมีทางใบทั้งประเทศมีอยู่จำนวน 758 ทีมๆ ละ 3 คน รวมทั้งสิ้น 2,274 คน

 

           

            ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งหมด 5,300 ไร่ พบการเข้าทำลายของหนอนหัวดำ จำนวน 43,932 ต้น มีทีมรับจ้างรวม 15 ทีม แบ่งเป็นทีมฉีดสารเคมีเข้าลำต้น 1 ทีม และทีมพ่นทางใบ 14 ทีม ขณะนี้ได้อบรมให้กับทีมรับจ้างของกรุงเทพมหานครเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งพื้นที่ปลูกมะพร้าวของกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่จะปลูกแบบหัวไร่ปลายนา ริมรั้วบ้าน และพื้นที่กระจัดกระจาย จึงต้องพยายามสร้างความเข้าใจกับทีมรับจ้างว่าการดำเนินงานในบางพื้นที่อาจลำบาก แต่ก็อยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ร่วมกัน เพื่อให้หนอนหัวดำไม่มีที่ยืนในประเทศไทย ตามเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรี

สำหรับความรู้ที่ทีมรับจ้างฉีดสารเคมีและพ่นทางใบจะได้รับจากการอบรม ประกอบด้วย ชนิดของสารเคมีและอัตราการใช้อย่างถูกต้อง โดยสารเคมีที่ใช้ในกรณีมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตรขึ้นไป แต่ห้ามใช้ในมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวทำน้ำตาล จะใช้วิธีการเจาะเข้าต้น แนะนำใช้สาร emamectin benzoate (อิมาเม็กติน เบนโซเอต) 1.92% EC  เท่านั้น ในอัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น  โดยการเจาะลำต้นมะพร้าวสูงจากพื้นดินประมาณ 0.5 - 1 เมตร ในลักษณะมุมเอียงประมาณ 45 องศา จำนวน 2 รู ให้รูอยู่แนวเหนือใต้หรือทิศทางตรงข้ามกัน ขนาดกว้าง 5 หุน ลึก 10 เซนติเมตร จากนั้นใช้กระบอกฉีดยาดูดสารฉีดเข้าต้นรูละ 15 มิลลิลิตรแล้วใช้ดินน้ำมันอุดรูทันทีและปาดให้ขอบรูเรียบ เพื่อป้องกันสารไหลย้อนออกมาและเพื่อป้องกันอันตรายจากการเข้าสัมผัสสารของมนุษย์หรือสัตว์ ส่วนการพ่นทางใบ ในกรณีที่ต้นสูงไม่ถึง 12 เมตร รวมทั้งมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวทำน้ำตาล ทุกระดับความสูง แนะนำให้ใช้ สาร cholrantraniliprol (คลอแรนทรานิลิโพรล) 5.17% SC  อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วบริเวณใต้ใบมะพร้าวอัตราเฉลี่ย 610 ลิตรต่อต้น

 

 

นอกจากนี้ ยังเน้นสร้างความตระหนักรู้ถึงการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยให้กับผู้ฉีดเข้าต้นและพ่นทางใบ ต้องใส่เครื่องป้องกัน ทั้งหมวก หน้ากาก แว่นตา เสื้อคลุมมิดชิด ถุงมือ เพื่อความปลอดภัยต่อตัวผู้ใช้สารเคมี ที่สำคัญกรมส่งเสริมการเกษตร ยังมุ่งหวังให้ทีมรับจ้างเหล่านี้ ช่วยเป็นนักส่งเสริมในการแนะนำความรู้เรื่องการกำจัดหนอนหัวดำให้กับเกษตรกรเจ้าของสวนมะพร้าวที่ตนเข้าไปดำเนินงานด้วย เพื่อสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมในการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำอย่างยั่งยืนต่อไป

ด้านนายไพทูร อินทะเตชะ หัวหน้าทีมพ่นสารเคมีทางใบ รับผิดชอบพื้นที่แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กล่าวว่า ตนเป็นเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมซึ่งประสบปัญหาหนอนหัวดำระบาดทำลายผลผลิตเช่นเดียวกับเกษตรกรในละแวกบ้านหลายราย โดยที่ผ่านมาก็มีการใช้สารเคมีกำจัดหนอนหัวดำมาตลอด แต่เป็นวิธีแบบชาวบ้านไม่มีหลักวิชาการอะไร เมื่อรัฐบาลมีโครงการนี้ตนจึงสมัครเข้าร่วม เพื่อหวังว่าจะได้รับความรู้นำไปใช้แก้ปัญหาในสวนมะพร้าวของตนเองและสวนใกล้เคียง เนื่องจากอยากกำจัดหนอนหัวดำให้หมดไปสักที เพราะขณะนี้มะพร้าวน้ำหอมราคาดีเฉลี่ยลูกละ 18 บาท หากโดนหนอนหัวดำทำลายต้องปลูกใหม่ทดแทน ไม่เพียงแต่เสียโอกาสสร้างรายได้ ยังกระทบต่อต้นทุนที่สูงขึ้นจากลูกพันธุ์มะพร้าวที่ปรับราคาสูงถึงลูกละ 85 บาท และมีแนวโน้มจะสูงถึงลูกละ 100 บาท

 

 

หลังจากที่เข้ารับการอบรมครั้งนี้ ตนมั่นใจว่าจะสามารถนำความรู้ไปใช้ในการพ่นทางใบให้กับสวนมะพร้าวที่รับผิดชอบรวมถึงสวนของตัวเองได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการอย่างแน่นอน ที่สำคัญตนจะถ่ายทอดความรู้ในการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำให้กับเกษตรกรรายอื่น เพื่อช่วยกันป้องกันกำจัดให้หมดไป เพราะถ้าเกษตรกรรายหนึ่งทำ แต่อีกรายไม่ทำ หนอนหัวดำเมื่อทำลายสวนมะพร้าวที่ไม่ดูแลหมดแล้วก็จะย้ายไปทำลายมะพร้าวของคนอื่น ดังนั้นทุกคนต้องร่วมมือกัน  

ตนจะดำเนินการกำจัดหนอนหัวดำตามมาตรการของรัฐทุกขั้นตอน เพื่อเป็นสวนต้นแบบให้กับเกษตรกรในละแวกใกล้เคียงได้เข้ามาเรียนรู้ อยากฝากถึงเกษตรกรว่า เราเป็นเกษตรกรมีรายได้จากการปลูกมะพร้าว เมื่อผลผลิตเสียหายเราก็ได้รับผลกระทบมากที่สุด ฉะนั้นเราควรช่วยเหลือตัวเอง ต้องดูแลผลผลิตของตัวเองไม่ใช้ปล่อยให้ธรรมชาติหรือรัฐดูแลรับผิดชอบอย่างเดียว ยิ่งมะพร้าวช่วงนี้ราคาดี มันคุ้มค่ากับการลงทุนนายไพทูร กล่าวทิ้งท้าย