ผักพื้นบ้าน ลดไชมัน-ป้องกันเบาหวาน!

 

 

"ผักเชียงดา" เมื่ออดีตถูกใช้เป็นยารักษาเบาหวานในอินเดียและประเทศแถบเอเชีย ภาษาฮินดูเรียก Gurmar แปลตรงตัวว่า ผู้ฆ่าน้ำตาล ญี่ปุ่นใช้ยอดอ่อนผลิตเป็นชาชงสมุนไพร (Herbal tea) บ้านเราเป็นผักพื้นบ้านของชาวเหนือ ปัจจุบันมีแนวโน้มทางธุรกิจสูง เพราะสรรพคุณด้านโภชนาการ และทางยาที่มีมากมาย

            เป็นไม้เถาเลื้อย วงศ์ Asclepiadaceae ชื่ออื่น เจียงดา,ผักกูด,ผักจินดา,ผักเซ่งดา,ผักม้วนไก่ผักเซ็ง,ผักฮ่อนไก่ผักอีฮ่วน,เครือจันปา

          ลำต้น สีเขียวเป็นเถา ความยาวขึ้นอยู่กับอายุ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-5 เซนติเมตร ทุกส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นจะมีน้ำยางสีขาวคล้ายน้ำนม

          ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกจากข้อเรียงเป็นคู่ตรงข้ามกัน ใบทรงรี ปลายแหลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย กว้าง 9-11เซนติเมตร ยาว 14.5-18.5 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ท้องใบมีสีอ่อนกว่า ผิวใบเรียบไม่มีขน ก้านใบยาว  3.5-6 เซนติเมตร

 

 

          ดอก ออกเป็นช่อแน่นสีขาวอมเขียว'อ่อน ดอกย่อยเล็กกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง  5-6 มิลลิเมตร

          ผล เป็นฝักคู่ ข้างในมีเมล็ดมาก

          ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ชอบอากาศเย็น ความชื้นปานกลาง แสงแดดเต็มวัน

          สรรพคุณทางยา : ช่วยรักษาเบาหวาน,บำรุงและปรับสภาพการทำงานของตับอ่อนให้เป็นปกติ,ชำระล้างสารพิษตกค้าง,บำรุงและซ่อมแซมหมวกไต,ลดระดับน้ำตาลในเลือด,ปรับและควบคุมระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ,ลดและควบคุมปริมาณไขมัน,ลดอาการภูมิแพ้ หืดหอบ,บรรเทาปวดข้อจากโรคเก๊าต์

            ปัจจุบันมีงานวิจัยระบุว่าผักเชียงดา ช่วยบำรุงตับอ่อนที่ไม่ผลิตอินซูลิน สาเหตุหนึ่งของโรคเบาหวานให้ทำงานได้ดีขึ้น โดยเอายอดอ่อนหรือใบอ่อนต้มกับน้ำจนเดือด ดื่มขณะอุ่นแทนน้ำวันละ 2-3 แก้ว จะช่วยบำรุงตับอ่อนและลดเบาหวานได้ 

 

 

            ตำรายาไทยไม่มีการบันทึกสรรพคุณ ทว่า ทางภาคเหนือใช้ใบสดตำละเอียดพอกกระหม่อมรักษาไข้และอาการหวัด ขณะที่ใช้แกงรวมกับผักตำลึง ยอดชะอม ช่วยแก้แพ้ แก้โรคท้องผูก

          ประโยชน์ด้านอาหาร : ยอดอ่อน ใบอ่อน มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ใน 100 กรัม มีวิตามินซี 153 มิลลิกรัม,เบต้าแคโรทีน5,905 ไมโครกรัม,วิตามินเอ 984 ไมโครกรัม,แคลเซียม (78 มิลลิกรัม),ฟอสฟอรัส (98 มิลลิกรัม),เส้นใยอาหาร (crude fiber 2.5กรัม),โปรตีน (5.4 กรัม),ไขมัน (1.5 กรัม),คาร์โบไฮเดรต (8.6 กรัม)    

         แหล่งที่มาข้อมูล: “เชียงดา” ผักฆ่าน้ำตาล ช่วยรักษาเบาหวาน. ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์