ทุ่ง (ลำไย) มหาเจริญ เผชิญหน้าวิกฤติน้ำด้วยพลังเกษตรกร

โดย - ปรีชา อภิวัฒนกุล

ทุ่ง (ลำไย) มหาเจริญ

เผชิญหน้าวิกฤติน้ำด้วยพลังเกษตรกร

         เอ่ยชื่อวังน้ำเย็น ทุกคนจะร้องอ๋อคุ้นๆ หน้านักการเมืองใหญ่รุ่นลายคราม แต่ถ้าลึกลงไปว่า ต.ทุ่งมหาเจริญ ก็คงนึกไม่ออกใหญ่

         ต.ทุ่งมหาเจริญ อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว ชื่อบ่งบอกเป็นทุ่ง ของเดิมเป็นป่า แล้วถูกแผ้วถางจนโล่งเตียน จากคนที่มาทั่วสารทิศ 57 จังหวัด ตามที่ปลัดอำเภอ สุทธินันท์ บัววิชัย แห่ง อ.วังน้ำเย็น ให้ข้อมูล เดิมทีชื่อทุ่งมหาวิบาก เพราะทางเข้า-ออกวิบากมาก จากตลาดวังน้ำเย็นมาที่นี่ใช้เวลาเดินทาง 2 วัน จึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็น ทุ่งมหาเจริญ เพื่อเป็นมงคลแทน

         เหมือนกับพื้นที่การเกษตรทั่วไป ปลูกอะไรได้ก็ปลูกกัน เอาที่ราคาดี พอราคาตกก็หันเปลี่ยนไปเป็นพืชอื่น ที่นี่จึงมีทั้งข้าว ข้าวโพด อ้อย ยางพารา มะม่วง และตัวที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในขณะนี้คือ ลำไย

         นายสมชาย อุ่นที นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งมหาเจริญ เล่าว่า ลำไยเข้ามาในพื้นที่เมื่อปี 2555 โดยคนจาก อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ในระดับหลักพันไร่ แล้วขยายเรื่อยมาจนถึงปี 2560 ประมาณว่า น่าจะไม่น้อยกว่า 20,000 ไร่ จากพื้นที่ทั้งตำบลร่วม 70,000 ไร่ หรือใกล้ๆ 30% ของพื้นที่ทั้งตำบล ในบางหมู่บ้านเช่นบ้านสันตะวา หมู่ 16 ปลูกกันเกือบ 50% ของพื้นที่

         ราคาอีกนั่นแหละที่เป็นตัวเปลี่ยนทุ่งมหาเจริญเป็นทุ่งมหาลำไย

         ลำไยมาพร้อมกับล้งจีนจากจันทบุรีที่ส่งเสริมเกษตรกรแถบ อ.สอยดาว ปลูกลำไยมาก่อน และใช้เครือข่ายคนไทยเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรปลูกที่ ต.ทุ่งมหาเจริญ ใช้วิธีตกเขียวให้เงินทุนก่อน 50% ตั้งแต่ช่วงราดสารโปแตสเซียม คลอเรต เพื่อเร่งให้ผลิดอก พอลำไยติดผลเล็กๆ ก็จ่ายอีก 50% ที่เหลือ แล้วไปหักกลบลบหนี้ตอนเก็บเกี่ยว ซึ่งจะประกันราคาล่วงหน้าที่ 35-38 บาท/กิโลกรัม

         ที่นี่เริ่มต้นผลิตเดือนกรกฎาคมไปเก็บเกี่ยวธันวาคม-ต้นมกราคม ตรงกับช่วงเทศกาลใหญ่ที่มีความต้องการลำไยอบแห้งมากคือปีใหม่และตรุษจีน

         ที่จริงทำช่วงไหนก็ได้ ถ้ามีน้ำและมีความต้องการลำไย เพราะใช้วิธีบังคับราดสารโปแตสฯ เพื่อเร่งดอกและผล

         ราคานี้จึงจูงใจเกษตรกรบ้านทุ่งมหาเจริญปลูกลำไย พร้อมๆ กับปัญหาใหญ่ที่ตามคือปัญหาน้ำ ที่ต้องใช้มาก โดยเฉพาะช่วงลำไยติดผลจนเก็บเกี่ยวราวๆ 6 เดือน

         เทียบกับ ต.วังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง ที่ได้ชื่อเป็นวังทุเรียน มีความคล้ายคลึงตรงทุเรียนกับลำไย ต่างต้องการน้ำมากในช่วงติดลูกถึงเก็บเกี่ยว แต่วังหว้าได้น้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งเป็นอ่างขนาดใหญ่ ความจุ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร ผ่านโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์อย่างมั่นคง จึงขยายพื้นที่การผลิตได้เต็มพิกัดจาก 5,000 กว่าไร่ขึ้นเป็นหลักหมื่นไร่ได้ ผิดกับทุ่งมหาเจริญหรือทุ่งลำไย ที่อาศัยอ่างเก็บน้ำ เขาตะกรุบซึ่งมีขนาดเล็ก ความจุเพียง 600,000 ลูกบาศก์เมตร แต่ต้องหล่อเลี้ยงลำไยนับหมื่นไร่

         นี่คือปัญหาใหญ่

         แม้เกษตรกรจะพยายามหาแหล่งน้ำก็ทำได้จำกัด เช่น การขุดบ่อบาดาล เพราะปริมาณน้ำน้อยกว่าความต้องการ

         ปัญหาเชิงพื้นที่เป็นปัญหาเชิงประจักษ์ แต่อีกปัญหาคือการขาดความรู้ที่มีความสำคัญมาก เพราะเกษตรกรที่นี่ปลูกตามเกษตรกรจาก อ.เขาสอยดาว จ.จันทบุรี ที่เข้ามาเช่าพื้นที่ปลูกส่งล้งจีน เนื่องจากเห็นว่าขายได้ราคาดี แต่ยังมีเรื่องไม่รู้อีกมาก เช่นเดียวกัน พื้นที่แห่งนี้ยังมีเกษตรกรจาก จ.ระยอง เข้ามาซื้อที่ดินปลูกทุเรียน เกษตรกรระยองมาพร้อมกับความรู้เรื่องการผลิตทุเรียน ดังนั้นฤดูผลิตนี้สวนทุเรียนบุกเบิก 7 ไร่ จึงให้ผลผลิต 7-8 ตัน และได้ราคาดีกิโลละนับร้อยบาท นี่ก็จะมีการเลียนแบบคล้ายๆ กับลำไยเช่นกัน

         ถ้าทำทั้งลำไยและทุเรียน น้ำจะเป็นอภิปัญหา มากกว่าปัญหาพื้นฐานทั่วไป

         ขาดน้ำอย่างเดียว ทั้งลำไยและทุเรียนจะขาดใจตาย มาตรว่ามีดอกมีลูกก็ต้องปลิดดอกปลิดลูกทิ้ง มากไปกว่านั้นอาจทำให้ยืนต้นแห้งตายอย่างที่เคยเกิดมาแล้วแถบ จ.ระยอง และ จ.จันทบุรี

         นี่ไม่นับปัญหาการตลาดจากล้งจีนที่เข้ามาส่งเสริมการปลูกก็เพียงเกษตรกรบางส่วนเท่านั้น หาได้ตกเขียวและรับประกันราคาล่วงหน้าทั้งหมดไม่ ท้ายที่สุด อิทธิพลหรือการมีอำนาจครอบงำตลาด จะทำให้เกษตรกรกลายเป็นเหยื่อถูกกดราคาจากล้งอีกจนได้

         อย่างไรก็ดี โครงการชลประทานสระแก้ว โดยนายณัฐวุฒิ สร้อยประเสริฐ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน ได้ลงไปร่วมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐ "ลุ่มน้ำย่อยคลองกัดตะนาวใหญ่ตอนล่าง" อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว อย่างต่อเนื่องหลายครั้ง และรับรู้ปัญหาการปลูกลำไยและการขาดแคลนน้ำแล้ว

         โครงการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐนั้น เป็นการผนึกกำลังระหว่างภาคประชาชนกับรัฐ ลำพังปล่อยให้รัฐแก้ไขปัญหาฝ่ายเดียว แม้จะสำเร็จแต่ยากที่จะยั่งยืน การก่อตัวของคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐโดยการคัดเลือกของชาวบ้านกันเองก้าวหน้าตามลำดับ อย่างน้อยเริ่มรู้แล้วว่าปัญหาน้ำของชุมชนมาจากอะไร ส่วนจะแก้ไขอย่างไรต้องร่วมกันคิดอ่านหาทางต่อไป

         ลุ่มน้ำย่อยคลองกัดตะนาวใหญ่ตอนล่าง เป็น 1 ใน 88 ลุ่มน้ำย่อย ที่สำนักงานชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน ริเริ่มนำร่องพัฒนาแบบประชารัฐหรือการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยหวังผลให้ชุมชน มีความเข้มแข็งในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

         เพราะน้ำคือชีวิต...