ยุทธการล้อมวงคุย แก้ปัญหาทางรอดเกษตรไทย

 โดย - ปรีชา อภิวัฒนกุล

 ยุทธการล้อมวงคุย...แก้ปัญหาทางรอดเกษตรไทย

 

 

         จะดูว่า เกษตรกรไทยเป็นอย่างไร ดูง่ายๆ ที่หนี้สินและการถือครองที่ดิน

            ถึงจะไม่มีสถิติตัวเลขอ้างอิง เอาจากที่ได้ยินได้สัมผัสในพื้นที่มา หนี้บาน แถมยังแปรสถานะจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน กลายเป็นผู้เช่าที่ดินแปลงที่ตัวเองเคยเป็นเจ้าของอย่างน่าอนาถ สะท้อนว่า เราเดินหลงทิศ ผิดทางมาโดยตลอด ท่ามกลางการส่งเสริมเอาเป็นเอาตายจากภาครัฐ สิ้นเปลืองงบประมาณแต่ละปีมหาศาล สุดท้ายผลลัพธ์ก็ฟ้องว่า ล้มเหลวสิ้นเชิง

            ทางออกแรก หยิบเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาฟื้นฟูตัวเอง เป็นเกษตรผสมผสาน ทำนาปลูกพืชผัก พืชไร่ พืชสวนหลากหลาย เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา มีเงินเข้าบ้านทุกวัน ทุกสามวัน ทุกเจ็ดวัน พออยู่พอกิน ไม่ร่ำรวย แต่ไม่ยากจน คล้ายผู้ประกอบการรายย่อย ถือเป็นผู้รอดแล้ว

 

 

            ทว่า สำหรับเกษตรกรส่วนใหญ่ที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว น็อก กำไร-ขาดทุน รอบต่อรอบ ส่วนใหญ่รวมๆ ก็ขาดทุนเป็นหนี้สิน เอาหนี้มาก่อน ในรูปเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารเคมีกำจัดศัตรูพืช  เถ้าแก่หักหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตซึ่งมักไม่พอหัก  มีสภาพเหมือนคนรับจ้างปลูกมากกว่าเจ้าของที่แท้จริง

            คนกลุ่มนี้มีต้นทุนการผลิตสูง ตั้งแต่ต้นทุนการเงินที่หยิบยืมล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ย ต้นทุนเมล็ดพันธุ์ที่หว่านข้าวมากมายเกินไป  ต้นทุนการใช้ปุ๋ยและยาเยอะกว่าที่ควรจะเป็น แถมต้นทุนแรงงานกรณีเป็นชาวนามือถือ จ้างคนอื่นทำ  ล้วนส่งผลให้ต้นทุนสูงทั้งสิ้น  

            กล่าวได้ว่า การขาดความรู้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่รอด โดยเฉพาะเรื่องปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชซึ่งเป็นสัดส่วนต้นทุนที่สูง ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ แต่ใช้อย่างไรเท่าที่จำเป็น ตรงนี้เกษตรกรไม่รู้ ไม่เข้าใจ เลยใช้ตามร้านค้าแนะนำมา ตามที่เซลส์แมนกระซิบบอก ต้นทุนนี้เลยบานไม่หุบ จนชั้นจะเก็บเกี่ยวก็ต้องจ้างอีก ซ้ำร้ายอยู่ที่เถ้าแก่จะเมตตากำหนดราคาซื้อขายผลผลิตอีก

 

 

          เป็นวิถีชีวิตที่อยู่ในกำมือคนอื่นทั้งสิ้น เป็นความเสี่ยงที่เห็นทางรอดยาก  ยังไม่นับความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้จากลมฟ้าอากาศแปรปรวน

          ทางรอดอย่างเดียว เกษตรกรต้องหมั่นฝึกฝนเรียนรู้ ศึกษาเนื้อในสิ่งที่ตัวเองทำให้กระจ่าง

          เช่นเดียวกัน หน่วยงานรัฐต้องกลับมาถามตัวเองแล้วว่า  แล้วไอ้ที่ไปส่งเสริมเกษตรกรปลูกนั่นนี่  เอาความรู้วิชาการเกษตรไปบอกเกษตรกรนั้น สุดท้ายทำไมลงเอยอย่างนี้ ทำไมล้มเหลวได้ทุกฤดูทุกปี

          สิ้นสุดฤดูการผลิตหนึ่ง เกษตรกรไปทางหนึ่ง เจ้าหน้าที่เกษตรของรัฐไปอีกทางหนึ่ง แล้วกลับมารวมกันอีกทีตอนเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ แล้วก็หมุนวนย่ำรอยเดิมคล้ายวงจรอุบาทว์

 

 

          ถ้าดูถึงนโยบายการเกษตรของรัฐต้องบอกว่ายิ่งใหญ่มาก พูดถึงองค์รวม บูรณาการ เกษตร 4.0 เกษตรแปลงใหญ่ น้ำชลประทาน การปรับปรุงดิน การใช้ปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช สารอินทรีย์ การแปรรูป การลดต้นทุน และฯลฯ ล้วนวิลิศมาหรามาก

          สิ่งที่รัฐควรทำอย่างยิ่งหลังจบฤดูการผลิต คือการนั่งล้อมวงพูดคุยกับเกษตรกรถึงผลลัพธ์ ทั้งดีทั้งร้าย ถอดบทเรียนจากปัญหาและร่วมแนวทางแก้ไขร่วมกัน ให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในกระบวนการอย่างแท้จริง แทนรอคำสั่งหรือความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเดียว 

 

 

          ไหนๆ ก็บูรณาการการทำงานของส่วนราชการในกระทรวงกันอยู่แล้ว  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น่าจะขยายเพิ่มเติมถึงการบูรณาการร่วมกับเกษตรกรด้วย  จะได้รับรู้ปัญหาแท้จริง และร่วมกันหาทางออกอย่างเป็นรูปธรรม  

        อย่างน้อยที่สุด ความรู้ในการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตจะเป็นจริงเป็นจังในทางปฏิบัติได้แน่นอน!