'ทองประภาฟาร์ม'เพาะไก่ชน3สายพันธุ์

         ผ่านอำเภอชัยบาดาล ลพบุรี แวะ 'ทองประภาฟาร์ม' เป็นแหล่งเพาะไก่ชน 'สาย พม่า-ไซง่อน-ตราด'

         เสียงไก่ร้องดัง "เอกอี้เอกเอ้ก" แว่วมากับสายลมขณะที่เรามุ่งเข้าสู่หมู่บ้านหนองเต่า ตำบลชัยนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล ลพบุรี ติดริมถนน ทางหลวงสาย 21 พุแค-หล่มสัก ต.ชัยนารายณ์ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี เป้าหมายปลายทางที่ "ทองประภาฟาร์ม" แหล่งเพาะพันธุ์ไก่พื้นเมืองพันธุ์ไก่ชนที่มีสายพันธุ์หลัก 3 สายพันธุ์ ได้แก่สายพันธุ์พม่า ไซง่อน และตราด ของ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ นามประเสริฐ รองผู้กำกับ สภ. ลำสนธิ ลพบุรี ตั้งเลขที่ 5/1 หมู่ 2 ต.ชัยนารายณ์ อ.ชัยบาดาล นั่นเอง

         "ทองประภาฟาร์ม" เป็นที่รู้จักทั้งนักอนุรักษ์ไก่พื้นเมืองสายพันธุ์ไก่ชน และเซียนไก่ชนเป็นอย่างดี เพราะเป็นฟาร์มผลิตไก่ชนที่มีคุณภาพมายาวนานกว่า 10 ปีแล้ว เริ่มแรกนั้นสารวัตรสุรศักดิ์ เลี้ยงด้วยเศษอาหารที่มีอยู่ในบ้าน เน้นเลี้ยงไว้ดูเล่นในยามว่าง แต่ต่อมาก็ได้ไก่สายพันธุ์ดีๆ เพิ่มขึ้น จึงเริ่มปรับเปลี่ยนการเลี้ยง ให้มาเป็นระบบฟาร์ม พร้อมๆ กับเปลี่ยนสายพันธุ์มาเรื่อยๆ เริ่มจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ดั้งเดิมเป็นไก่ 3 สายพันธุ์ มี พม่า ไซง่อน และตราด แล้วก็ไปเอาพ่อพันธุ์จากทางภาคเหนือมาที่เป็นพันธุ์ไก่ชนพม่าแท้ มาปรับปรุงสายพันธุ์ให้มันดีขึ้น จนได้ไก่ที่มีความอดทน ฉลาด ใจสู้ และตีเก่งด้วย ปัจจุบัน รองผกก.สุรศักดิ์ บอกว่า มีไก่พันธุ์ดีๆ ราว 400-500 ตัว ส่วนใหญ่เน้นการเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ แต่บางส่วนอาจขังในสุ่มบ้าง

         "ตอนแรกผมมีแม่พันธุ์ 5 ตัว พ่อพันธุ์ 1 ตัว แล้วปล่อยให้อยู่ธรรมชาติ พอไข่แล้วปล่อยให้แม่ไก่ฟักไข่ ราว 1 อาทิตย์ พอฟักแล้วจะเอาแม่พันธุ์กับลูกไปเลี้ยงในสุ่มเพื่อให้แม่ไก่ดูแลลูก เพราะเราต้องการให้ลูกไก่มีชีวิตรอดมากที่สุด ในระหว่างที่อยู่ในสุ่มจะให้อาหารไก่ 3 แบบคือ แบบแรกจะให้ลูกเจี๊ยบเป็นอาหารหมูอ่อน พอโตขึ้นมาหน่อยก็จะให้เป็นอาหารไก่ปกติ ผสมข้าวเปลือก พอโตแล้วจะให้ข้าวเปลือกกับเศษอาหารที่ได้มาจากตามร้านอาหาร เพื่อประหยัดในเรื่องค่าใช้จ่าย" รอง ผกก.สุรศักดิ์ กล่าว

         หลังจากที่ลูกไก่โตเป็นหนุ่มไก่สาวพร้อมทำเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์แล้ว พ.ต.ท.สุรศักดิ์ บอกว่า หากเป็นไก่สาวจะขายในราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 2,000 บาท แต่หากไก่ผู้สำหรับทำเป็นพ่อพันธุ์ก็อยู่ที่ความเก่งของแต่ละตัวอาจอยู่ที่หลักพัน ถึงหลักหมื่น สูงสุดราคาอยู่ที่ 6-7 หมื่นบาท บางคนเอาไปตีทำเป็นไก่ชนจนชนะมา จะซื้อขายอยู่ในหลักหมื่น บางตัวคนอื่นเอาไปตีชนะมากกว่า 2 ครั้งเคยมีคนซื้อขายราคาสูงถึงตัวละ 1.5 แสนบาท

         ขณะเดียวกันในแต่ละเดือนก็มีค่าใช้จ่ายตกเดือนละกว่า 4 หมื่นบาท มีทั้งค่าอาหาร ค่าคนเลี้ยง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ายารักษาไก่ ค่าข้าวเปลือก บางตัวที่ตีแล้วบาดเจ็บหรือไก่ปลดระวาง จะแจกให้ชาวบ้านนำไปเพาะพันธุ์ พอได้ลูกไก่มาฟาร์มจะรับซื้อกลับมาอีก ถือเป็นการส่งเสริมอาชีพ โดยเฉพาะข้าราชการตำรวจใน สภ. ลำสนธิหรือ ชัยบาดาล ได้รับพ่อแม่พันธุ์ไปเลี้ยง 8-10 ราย ที่ได้รับไก่ บางคนส่งกลับไปที่บ้าน เพื่อให้ญาติผสมพันธุ์บ้าง

         เจ้าของประภาฟาร์ม ยอมรับว่า ไก่ที่เลี้ยงลงทุนไปมากแล้ว แต่ผลตอบแทนนั้นไม่แน่นอน บางเดือนอาจจะขายได้มาก บางเดือนขายได้น้อย เมื่อได้แต่ละครั้งต้องแบ่งให้คนเลี้ยงบ้าง เช่น ขายไก่ได้ 1 ตัวก็จะหักเปอร์เซ็นต์ให้คนเลี้ยงไป ที่นอกเหนือจากเงินเดือนที่มีประจำ ไก่บางชุดที่ส่งไปตามซุ้ม หากขายได้ก็จะได้เปอร์เซ็นต์ค่าขายไป บางครั้งรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย แต่ใจรักและต้องการพัฒนาสายพันธุ์มากกว่า หากชาวบ้านต้องการเลี้ยงก็ต้องเอาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ได้ แต่มีข้อแม้ว่า เลี้ยงแล้วอย่าไปปะปนกับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่อื่น เพราะจะกลายพันธุ์ เมื่อชาวบ้านเลี้ยงแล้วหากตัวผู้ได้ตัวละ 2 กิโล จะรับซื้อตัวละ 500 บาท ตรงนี้ชาวบ้านจะได้มีรายได้ดีกว่าไก่เนื้อ เพราะไก่เนื้อรับซื้อกิโลกรัมละ 60 บาทเท่านั้น

         "ผมเลี้ยงไก่ชน แต่ส่วนตัวไม่เคยเล่นการพนันชนไก่ชน แต่ยอมรับว่าเข้าไปดูในสังเวียนบ้าง เพื่อติดตามดูว่าไก่ที่ฟาร์มตัวเองแพ้ หรือชนะ เผื่อเราจะได้พัฒนาสายพันธุ์ให้ดีขึ้น เพราะทุกวันนี้การเลี้ยงไก่ชนใน จ.ลพบุรี มีจำนวนมาก มีการเลี้ยงหลายแห่งโดยเฉพาะไก่ชนสามสายพันธุ์ที่นักเลงไก่ใน จ.ลพบุรี เป็นที่นิยมมากสุด ทำให้มีการเพาะพันธุ์และซื้อขายในราคาที่แพงมากตั้งแต่ตัวละหลักพันถึงหลักแสนบาท"

         ด้าน ยอด สุขมณี ชาวบ้านหมู่บ้านหนองเต่า ต.ชัยนารายณ์ อ.ชัยบาดาล วัย 40 ปี ผู้ดูแลไก่ชนในประภาฟาร์ม บอกว่า ชอบไก่ชนมาก จึงไปมาบ้านรองผกก.สุรศักดิ์ เป็นประจำ ต่อมาได้อาสาเข้ามาดูแลไก่ชน ทางฟาร์มให้ทั้งเงินเดือน มีทั้งเปอร์เซ็นต์จากการขายไก่ชนแต่ละตัว เพียงดูแลให้อาหารไก่ ดูแลการให้ยาบำรุงไก่เล็ก เพราะการเลี้ยงไก่ทั้งไก่ใหญ่ต้องดูแลอย่างดี

         นี่เป็นเรื่องราวส่วนหนึ่งของการไปท่องดูการเลี้ยงไก่พื้นเมืองพันธุ์ไก่ชนที่ประภาฟาร์ม หากใครสนใจอยากเลี้ยงไก่ชนบ้าง สอบถามได้ที่ 08-1935-2565

 

เรื่องโดย : สรศักดิ์ ทับทิมพราย - น.ส.นภาภัทร ทับทิมพราย