ประดู่...ดอกบานและร่วงพร้อมกัน

         ประดู่บ้าน ชื่อวิทยาศาสตร์ Pterocarpus indicus Willd. อยู่ในวงศ์ Papilionoideae มีแหล่งกำเนิดในประเทศอินเดีย แต่นำมาปลูกในไทยนานมาแล้ว ลักษณะทั่วไปคล้าย ประดู่ป่า ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิมของไทยที่มาจากป่า (ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pterocarpus macrocarpus Kurz. อยู่ในวงศ์ Papilionoideae)

         สำหรับประดู่บ้าน มีความสูงราว 20-25 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นทรงพุ่มกว้างกว่าประดู่ป่า และปลายกิ่งห้อยลง เปลือกสีเทาเป็นร่องไม่มีน้ำยางสีแดง ใบขนาดเล็กกว่านิดหน่อย ดอกช่อเล็กกว่า ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ออกดอกดกกว่า สีเหลืองและกลิ่นหอมแรงเช่นเดียวกัน บานและร่วงพร้อมกันทั้งต้นเหมือนกัน ประดู่บ้านนั้นคนไทยนิยมนำมาปลูกทั่วไป มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปทั้ง ประดู่บ้าน ประดู่กิ่งอ่อน ประดู่ลาย (ภาคกลาง) ดู่บ้าน (ภาคเหนือ) สะโน (มลายู-นาราธิวาส) ภาษาอังกฤษเรียก Angsana Norra และ Malay Padauk

         ประดู่บ้านและประดู่ป่า ต่างก็มีสรรพคุณทางยาเหมือนกัน ได้แก่

         ใบ : รสฝาด ใช้สระผม พอก ฝี พอกแผล แก้ผดผื่นคัน

         เปลือก : รสฝาดจัด สมานบาดแผล แก้ท้องเสีย บำรุงร่างกาย

         แก่น : รสขมฝาดร้อน แก้คุดทะราด แก้เสมหะ เลือดกำเดาไหล แก้ไข้ บำรุงเลือด บำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ แก้ผื่นคัน

         ผล : แก้อาเจียน แก้ท้องร่วง มีรสฝาดสมาน

         เนื้อไม้ประดู่ทั้ง 2 ชนิด เป็นไม้มีค่าทางเศษฐกิจ มีคุณภาพดี เพราะเนื้อแข็ง ปลวกไม่ทำลาย สีสวย ลวดลายงดงาม เนื้อละเอียดปานกลาง ตกแต่งขัดเงาได้ดี ใช้สร้างบ้านเรือน ทำเครื่องเรือน ทำเกวียน เรือ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เครื่องดนตรี เป็นต้น

         ประดู่บางต้นเกิดปุ่มตามลำต้น เรียกว่า ปุ่มประดู่ (เช่นเดียวกับปุ่มมะค่า) ทำให้ได้เนื้อไม้ที่มีคุณภาพสูง งดงาม และราคาแพงมาก นิยมนำมาทำเครื่องเรือน และเครื่องมือเครื่องใช้อย่างดีเยี่ยม หาได้ยาก เปลือกและแก่นประดู่นำมาย้อมผ้าได้ดี ให้สีน้ำตาลและแดงคล้ำ ใบอ่อนและดอกประดู่นำมากินเป็นอาหารได้ด้วย


         วิธีการปลูกและการดูแลรักษา

         ควรปลูกในดินร่วนซุย บริเวณกลางแจ้งที่มีแสงแดดจัด ชอบน้ำปานกลาง เป็นไม้ที่เลี้ยงง่าย ไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องศัตรูพืชหรือโรคต่างๆ และทนต่อสภาพธรรมชาติได้ดี ควรมีบริเวณกว้างสักหน่อย เพราะประดู่โตเร็ว พุ่มใบทึบ และแตกกิ่งก้านสาขาแผ่กว้าง หากปลูกใกล้บ้านมากเกินไป กิ่งก้านของประดู่อาจระหลังคาหรือตัวบ้านจนดูรกครึ้มเกินไป ต้องคอยหมั่นตกแต่งกิ่งอยู่เสมอ ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด

 

         เกร็ดความรู้

         ประดู่เป็นไม้โบราณมีกล่าวถึงอยู่ในพุทธประวัติว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จฯกลับจากเทศนาโปรดพระเจ้าสุทโธทนะแล้ว ได้เสด็จฯพร้อมพระอานนท์ พระราหุล และพระสาวกสู่กรุงราชคฤห์ ประทับ ณ สีสปาวัน ซึ่งมีความหมายว่าป่าประดู่ลายนั่นเอง ประดู่จึงถือเป็นต้นไม้มงคลต้นหนึ่งในศาสนาพุทธ

         สำหรับเมืองไทยแล้วเมื่อพูดถึง "ดอกประดู่" ยังเป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปว่าเปรียบดั่ง ทหารเรือ ซึ่งมีที่มาจาก พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้ทรงพิจารณาเห็นว่า ชีวิตของชาวเรือจะต้องดำเนินไปเหมือนดอกประดู่ กล่าวคือ ดอกของมันจะค่อยๆบานและโรยพร้อมกันทั้งต้น เพื่อปลูกฝังชีวิตจิตใจของนายทหารเรือทุกคนและทุกระดับให้มีความรัก ความสามัคคีกัน "ประดู่" จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของทหารเรือไทย 3 สัญลักษณ์ คือ

         1. หมายถึงกองทัพที่เข้มแข็ง อันประกอบไปด้วยกำลังพลที่มีศักยภาพและวิชาการทางเทคนิคสูง เช่นเดียวกับแก่นของประดู่

         2. หมายถึงกองทัพอันประกอบด้วยกำลังพลที่มีความรักความสามัคคีสูง ดังเช่นดอกประดู่ที่บานและโรยร่วงพร้อมกัน

         3. หมายถึงกองทัพที่แสดงออกให้ปรากฎด้านสามัคคีธรรม ดังที่เคยได้ใช้ดอกประดู่เป็นเครื่องหมายแทนชั้นยศในชุดลำลองมาแล้ว 

         ดอกประดู่จึงเป็นเสมือนเครื่องหมายที่ใช้แทนนิยามของ "ทหารเรือ" ของเหล่าราชนาวีไทย