ไอเดียเริ่ด! วิศวกรหนุ่มใช้มือถือช่วยปลูกผัก (มีคลิป)

         ความนิยม ผักไฮโดรโปนิกส์ นับวันจะขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนรักสุขภาพ ต้องการบริโภคผักสด สะอาด ปลอดสารพิษ อีกทั้งการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ไม่ต้องใช้ดิน จึงเป็นทางออกของคนเมืองที่มีพื้นที่จำกัด สามารถปลูกผักสลัดหรือผักสวนครัวทานเองได้แม้จะอาศัยบนคอนโดสูง ถือเป็นงานอดิเรกที่สร้างความสุขในชีวิตประจำวันได้อย่างดี หรือหากคิดจะปลูกจริงจังเพื่อนำผักไปขายเป็นรายได้เสริม ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลย

         อย่างไรก็ตาม ปัญหาของผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกรมืออาชีพ คือมีงานหลักที่ต้องทำประจำอยู่แล้ว จึงไม่มีเวลามาดูแลเอาใจใส่การปลูกผักในทุกขั้นตอน ทำให้บางคนคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยแบ่งเบาภาระตรงนี้

         "คุณอี๊ด" สรรยา แก้วกมล วิศวกรบริษัทสิ่งทอ เป็นหนึ่งในผู้ที่เริ่มนำเทคโนโลยีไฮเทคมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และควบคุมคุณภาพทางการเกษตร ที่เรียกกันว่าเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง "Internet of Things" (IoT) โดยคุณสรรยาใช้เวลาว่างค้นคว้าข้อมูลจากเว็บต่างประเทศ เขียนแบบ พัฒนาอุปกรณ์ ลองผิดลองถูกจนได้เครื่องประมวลผลข้อมูลจากแปลงผัก เพื่อควบคุมปัจจัยต่างๆสำหรับการเพาะปลูกได้อย่างแม่นยำ

         "ผมทำเครื่องแสดงผลเพื่อควบคุมการปลูกผักขึ้นมาใช้เอง ค้นคว้าหาความรู้จากเว็บไซต์ต่างๆ ใช้เงินค่าวัสดุอุปกรณ์ราวๆ 4 พันบาท เอามาประกอบเอง เครื่องนี้มีเซนเซอร์วัดความชื้นในอากาศ วัดอุณหภูมิ วัดความเข้มของแสง เพื่อให้เรารู้ว่ามีแดดมากหรือน้อยเท่าใด ถ้ามากไปก็จะได้พรางแสง หรือเปิดให้แสงส่อง ผักก็จะได้รับแสงอย่างเพียงพอ มีการวัดความชื่นในดิน เพื่อควบคุมการรดน้ำและฉีดสเปรย์ ไม่ให้ลดน้ำเกินความจำเป็น นอกจากจะทำให้ผักเติบโตดีแล้ว ยังเป็นการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าด้วย"

         สำหรับข้อมูลทั้งหมดจากแปลงผักที่ตรวจวัดได้จากตัวเซนเซอร์ จะถูกรวบรวมโดยเครื่องไมโครคอนโทรล ส่งผ่านสัญญาณ wifi ไปเก็บไว้ที่ระบบคลาวด์ (Cloud) เพื่อใช้สมาร์ทโฟนดึงข้อมูลมาใช้ผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งคุณสรรยาออกแบบให้สามารถสั่งระบบลดน้ำและฉีดสเปรย์ควบคุมอุณหภูมิได้ทันทีผ่านมือถือแม้ตัวเองจะต้องออกจากบ้านไปนั่งทำงานประจำอยู่ที่บริษัทก็ตาม

         บนที่ดินย่านบางรักน้อย อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเดิมคุณพ่อคุณแม่ปลูกสวนทุเรียน แต่เพราะน้ำท่วมบ่อยชาวสวนแถวนั้นจึงเลิกสวนทุเรียนกันไป กลายเป็นบ้านจัดสรรเข้ามาแทนที่ ส่วนบ้านของคุณสรรยา แม้ไม่ได้ทำสวนทุเรียนแล้ว แต่ยังนิยมปลูกพืชพรรณต่างๆ รวมทั้งอนุรักษ์พันธุ์ทุเรียนเมืองนนท์เอาไว้ พอดีมีเนื้อที่ว่างราวหนึ่งไร่ จึงคิดปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ตามกระแสนิยม ด้วยความเอาใจใส่ของคุณสรรยาและภรรยา ผลผลิตที่ได้จึงมีคุณภาพดี ประจวบกับร้านอาหารในละแวกนั้นต้องการผักสลัดสำหรับเมนูสเต็ก จึงมีออร์เดอร์มาที่แปลงผักของคุณสรรยาทุกวัน

         

         "ผมปลูกผักกรีนโอ๊ค และเรดโอ๊ค ด้วยระบบ NFT (Nutrient Film Technique) ให้รากแช่อยู่ในสารละลายธาตุอาหารที่ไหลเป็นแผ่นฟิล์มบางๆ ทำมาแล้วเกือบ 2 ปี ค่อยๆขยายไป ถ้าคิดเป็นเงินลงทุนถึงตอนนี้ก็น่าจะราวๆ 3-4 แสนบาทแล้ว ในแต่ละสัปดาห์ได้ผลผลิต 100 กิโลกรัม ขายได้เดือนละ 3 หมื่นบาท หักต้นทุนหนึ่งหมื่นบาทซึ่งรวมค่าจ้างคนมาดูแลเฉพาะบางเวลา ที่เหลือก็เป็นกำไร คาดว่าอีกสักปีครึ่งคงจะคืนทุนทั้งหมด"

         ด้วยผลลัพธ์ที่ดีเกินคาด มีออร์เดอร์เข้ามาตลอด คุณสรรยาจึงคิดจะขยายแปลงผักเพิ่มอีกเป็นเท่าตัว และไม่แน่ว่าในอนาคตวิศวกรหนุ่มรายนี้อาจผันตัวเองเป็นชาวสวนผักไฮโดรโปนิกส์เต็มตัวก็เป็นได้ หากสนใจสอบถามข้อมูลลองโทรไปพูดคุยกับคุณสรรยาได้ที่ 089-221-9826

(ขอบคุณภาพประกอบจาก เสถียรพงษ์ สมรรถชัยปีติ)