ตำนาน "เขาวงพระจันทร์เมืองลพบุรี" ห้ามขายน้ำส้มสายชู

AD BANNER HEAD

         งานเทศกาลไหว้พระที่เขาวงพระจันทร์ ตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง ลพบุรี จะมีขึ้นในเดือน 3 ของทุกปี โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน บรรดาคนไทยเชื้อสายจีนจะเดินทางไปไหว้พระพุทธบาทบนยอดเขาวงพระจันทร์กันมาก พร้อมกับการ ไหว้รอยพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เทศกาลไหว้พระและมนัสการรอยพระ และไหว้รอยพระพุทธบาทบนยอดเขาวงพระจันทร์ ในสมัยก่อนย้อนไปสัก 40 ปี ที่เขาวงพระจันทร์จากหัวค่ำยันดึกดื่น ก่อนสว่าง เป็นช่วงที่ประชาชนเดินขึ้นเขาวงพระจันทร์ไหว้พระและกราบรอยพระพุทธบาทบนเขาวงพระจันทร์ ตามทางขึ้นจะมีโรงทาน ข้าวต้ม น้ำดื่มตลอดทางปีนี้จะเริ่มขึ้นเขา ทำบุญบนเขาวงพระจันทร์ ตั้งแต่วันที่ 5-19 กุมภาพันธ์ 2562

 

         โดยเฉพาะ คนไทยเชื้อสายจีนที่ฉลองตรุษจีนจะเดินทาง มาไหว้พระที่เขาวงพระจันทร์ รถบัส หรือรถโดยสาร รถยนต์ส่วนตัว เนื่องแน่นลานวัด ประชาชนจำนวนมาก แห่กันมาไหว้พระตลอดทั้งคืน ที่น่าสนใจบรรดาร้านอาหาร ร้านข้าวหลาม ที่เป็นเอกลักษณ์ มีการตั้งร้านหลายสิบร้านต่างแข่งกันเผาข้าวหลาม ขายดิบขายดีมาก ไหว้พระเดือน 3 ก็เงียบหายหลายปี ทั้ง 2 แห่งทั้งพระพุทธบาท และเขาวงพระจันทร์ แต่ก็ยังมีมากราบไหว้แต่ไม่คึกคึกเหมือนสมัยก่อน มา 2-3 ปีมานี้เริ่มมีประชาชนมาขึ้นเขาวงพระจันทร์ ไหว้พระ กราบรอยพระพุทธบาทบนยอเดเขาวงพระจันทร์กันมากขึ้น ที่สำคัญจะมาขึ้นบันได 3,790 ขั้นสู่ยอดเขาวงพระจันทร์

         ในลพบุรีมีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีการห้ามขายน้ำส้มสายชู ทำให้ในลพบุรีไม่มีน้ำส้มสายชูบริโภคกันมานานหลายปี เนื่องจากเขาวงพระจันทร์มีตำนานในเรื่องของเมืองลพบุรี ตามตำนานพูดถึงความดีความชอบของหนุมานทหารเอกของพระราม จึงได้รับการปูนกำเหน็จให้ไปครองเมืองอยู่ที่ลพบุรี ประกอบกับพระรามมีความประสงค์ที่จะให้หนุมานไปควบคุมท้าวกกขนากซึ่งต้องศรติดอยู่กับพื้นถ้ำเขาวงพระจันทร์
         ซึ่งหนุมานจะต้องมาตอกไม้ที่ปักอกท้าวกกขนาก ทุกๆเดือนดับ(เดือนแรม) เพื่อจะได้ไม่ต้องไปๆมาๆให้ลำบาก การที่ท้าวกกขนากต้องไม้ปัก ก็เพราะท้าวกกขนากนี้เป็นยักษ์ซึ่งเป็นวงศาคณาญาติของทศกรรณด้วย ท้าวกกขนากนี้เป็นยักษ์ที่มีฤทธิ์เหมือนกัน พระรามได้แผลงศรมาต้องตรึงท้าวกกขนากหลายครั้ง แต่ไม่ระคายผิวของท้าวกกขนากเลย จึงได้ถามพิเภกว่าจะทำประการใดดีพิเภกจึงกราบทูลว่าให้เอาต้นกก(ขนาก) ยิงแทนศรจึงจะได้ผล พระรามจึงได้ใช้ต้นกกแทนศร แผลงถูกอุระของท้าวกกขนากล้มลง ต้นกกได้ออกรากติดกับหิน แต่มีคำสาปไว้ว่าเมื่อไก่แก้วขันหนหนึ่งศรนั้นก็จะเขยื้อนออกได้ หรือมิฉะนั้นสิ่งที่จะแก้อาถรรพ์ของศรต้นกกนี้คือ "น้ำส้มสายชู" ในสมัยหนึ่งทำให้ที่จังหวัดลพบุรีไม่มีน้ำส้มสายชูขาย เพราะเกรงว่านางศรีประจันทร์ ธิดาของท้าวกกขนากจะหามาเพื่อไปราดศรต้นกกที่ปักอก ท้าวกกขนากหากลุกขึ้นมาได้จะกินชาวลพบุรีเสียหมด แต่ปัจจุบันก็มีการขายตามปกติ

         ที่เขาวงพระจันทร์ยังมีตำนานอีกมากมายหลายเรื่องเมื่อหลายพันปีล่วงมาแล้ว ในครั้งนั้นลพบุรีหรือเมืองละโว้ธานีสมัยยังเป็นป่าดงพงทึบมีฝูงลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก มีทั้งลิงเล็กลิงใหญ่จึงได้ชื่อว่า "เมืองลิง" และในครั้งนั้นก็ยังมีควายถึกตัวหนึ่งชื่อ "ทรพา" อาศัยอยู่ในป่าบริเวณหน้าเขานางพระจันทร์ และเป็นที่น่าแปลกประหลาดที่ว่าบริเวณป่าแถบนั้น แม้จะมีควายป่าเที่ยวและเล็มหญ้าอยู่เป็นฝูงๆก็ตาม จะพบแต่ตัวเมียทั้งนั้น เพราะว่าถ้าควายป่าตัวไหนออกลูกมาเป็นตัวผู้ก็จะถูกเจ้าทรพาขวิดตายหมด เพราะมันเกรงว่าลูกชายมันจะทรยศ
         ครั้นต่อมามีความป่าตัวหนึ่งแอบเข้าไปตกลูกในถ้ำได้เป็นตัวผู้ ได้ชื่อว่า "ทรพี" ด้วยความที่ควายตัวนั้นเกรงว่าลูกจะถูกพ่อฆ่า หรือถูกทรพาขวิดตายจึงได้ซ่อนไว้อย่างมิดชิด และสั่งกำชับไม่ให้ลูกออกจากถ้ำไปไหนมาไหน สู้อุตส่าห์หาอาหารเลี้ยงลูกเรื่อยมาจนลูกเติบโตเป็นหนุ่ม ต่อมาเมื่อทรพาออกไปหากินที่อื่น ทรพีจึงได้มีโอกาสออกมาสูดอากาศภายนอกถ้ำสักครั้งหนึ่ง แต่ทรพีออกจากถ้ำคราวใดก็จะพยายามวัดรอยเท้าของพ่อทุกครั้ง
          จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่งทรพีเห็นรอยเท้าพอๆกันกับทรพาจึงได้คิดต่อสู้เจ้าทรพาที่มีความชราภาพมากแล้ว ไหนจะสู้เจ้าทรพีได้ ในที่สุดเจ้าทรพีก็ฆ่าเจ้าทรพาผู้เป็นพ่อตาย (ดังนั้นคนที่อกตัญญูสู้พ่อสู้แม่จึงประณามว่าลูกทรพี) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเจ้าทรพีก็ครองความยิ่งใหญ่แทนเจ้าทรพาสืบมา แต่ว่าคราวนี้เจ้าทรพีเป็นควายเกเรเที่ยวเกะกะระรานจนกระทั่งสัตว์เล็กสัตว์น้อยพากันเดือดร้อน

         เทศกาลไหว้พระและกราบรอยพระพุทธบาท บนเขาวงพระจันทร์ ทำไมคนสมัยก่อน ต้องขึ้นเขาวงพระจันทร์ในเวลากลางคืน เพราะว่าการขึ้นเขายามกลางคืนแดดไม่ร้อนอีกทั้ง ประชาชนที่มาขึ้นเขาวงพระจันทร์ ก็จะไปไหว้พระกราบรอยพระพุทธบาท ที่สระบุรีมาก่อน พอค่ำก็จะเดินทางมาที่ เขาวงพระจันทร์ พอลงจากเขาวงพระจันทร์ รุ่งเช้าก็จะทำบุญใส่บาตร กับพระสงฆ์ที่จำพรรษา อยู่ที่วัดเขาวงพระจันทร์กัน

โดย สรศักดิ์ ทับทิมพราย / น.ส.นภาภัทร ทับทิมพราย / ภาพ

ADS. home