สทนช. เฝ้าระวังแม่น้ำ 3 จว.ภาคใต้ เสี่ยงน้ำหลาก

         เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2561 นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 11/2561 ณ ห้องประชุมน้ำปิง ชั้น 4 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรุงเทพฯ ว่า โดย นายสมเกียรติ เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และ สสนก. ระบุว่า ในระยะ 1-2 วันนี้ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ส่งผลให้ในพื้นที่ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในบริเวณ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส สำหรับคลื่นลมมีกำลังแรง บริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณทะเลอันดามัน ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
         ทั้งนี้ ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำสายสำคัญที่เสี่ยงอาจเกิดน้ำล้นตลิ่ง ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช คลองท่าดี อ.เมือง, คลองกลาย อ.ท่าศาลา และคลองท่าเลา อ.ทุ่งสง จ.ตรัง แม่น้ำตรัง บริเวณ อ.รัษฎา อ.วังวิเศษ และ อ.ห้วยยอด และ จ.สุราษฎร์ธานี แม่น้ำตาปี บริเวณ อ.พระแสง-เวียงสระ และคลองกระแดะ บริเวณ อ.กาญจนดิษฐ์ โดยคาดว่าตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.เป็นต้นไป ปริมาณฝนในพื้นที่ภาคใต้จะลดลง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลากและดินโคลนถล่มในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการบริหารจัดการน้ำ โดยการพร่องน้ำจากอ่างเก็บน้ำ การวางแผนการระบายน้ำ การจัดเตรียมบุคลากร เครื่องจักรกลหนัก เครื่องสูบน้ำ ให้พร้อมสำหรับการช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

         ด้านสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งในพื้นที่ภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จำนวน 20 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 5 จังหวัด (เชียงใหม่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และอุทัยธานี) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด (ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ขอนแก่น เลย ร้อยเอ็ด และสุรินทร์) และภาคกลาง 7 จังหวัด (สุพรรณบุรี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี และสมุทรสงคราม กาญจนบุรี และราชบุรี)
         ซึ่งผลการวิเคราะห์ พบว่าในจำนวนนี้ มี 9 จังหวัด 31 อำเภอ 73 ตำบล เป็นพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทาน และยังไม่มีบ่อบาดาล ในส่วนของการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่นอกเขตชลประทาน พบว่า มี 11 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ สุพรรณบุรี หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม และศรีสะเกษ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 0.15 ล้านไร่ ซึ่งในส่วนนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำการปรับลดพื้นที่เพราะปลูกที่ใช้น้ำมากลง คิดเป็นพื้นที่ 0.15 ล้านไร่ และเพิ่มพื้นที่ปลูกพืชไร่พืชผัก ทดแทนอีก 0.1 ล้านไร่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ติดตามสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างใกล้ชิดต่อไป
         ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาและ สสนก. คาดการณ์ว่า ฤดูหนาวจะสิ้นสุดในช่วงกลางเดือน ก.พ. 62 และคาดว่าช่วงเดือน มี.ค. 62 ในพื้นที่ภาคอีสานฤดูแล้งจะมาเร็วกว่าปกติ สทนช.จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตร การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน และการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัย รวมทั้งเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรและประชาชนในการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น