รมว.เกษตรฯ หารือ 6 เอกชนผู้ผลิตยางรถยนต์ เน้นเพิ่มปริมาณรับซื้อและขยายกำลังการผลิต

         เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2561 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการยางแห่งประเทศไทย ได้เชิญบริษัทเอกชนผู้ประกอบการผลิตยางล้อรถยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย 6 บริษัท ร่วมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพาราใน 2 ประเด็น คือ 1. ขอความร่วมมือผู้ประกอบการฯ ในการเพิ่มปริมาณการรับซื้อวัตถุดิบยางพารา เพื่อนำไปผลิตยางล้อรถยนต์ให้มากขึ้น โดยซื้อขายตรงผ่านสถาบันเกษตรกร และ 2. ขอรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ตลอดจนข้อจำกัดของผู้ประกอบการ และสิ่งที่ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ หากรัฐต้องการให้ขยายกำลังและฐานการผลิตภายในประเทศ
         ข้อเท็จจริงในการซื้อขายยางพาราของผู้ประกอบการดังกล่าว ปัจจุบันเป็นการซื้อขายล่วงหน้าในตลาดยางพาราต่างประเทศ คือ โตเกียว และสิงคโปร์ โดยให้เหตุผลว่าบริษัทคู่สัญญามีความสามารถส่งยางพาราที่มีคุณภาพและตรงตามเวลาที่กำหนดได้ แม้ว่ายางพาราที่ซื้อขายในตลาดล่วงหน้าจะเป็นยางพาราที่ส่งออกจากประเทศไทยก็ตาม  ซึ่งผู้ประกอบการให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในอดีตเคยดำเนินการซื้อขายกับสถานบันเกษตรกรโดยตรงแล้ว แต่ประสบปัญหาเรื่องวัตถุดิบยางพาราไม่ได้คุณภาพ และไม่สามารถส่งได้ทันตามกำหนด ทำให้เกิดความเสียหาย จึงหันไปซื้อขายยางพาราในตลาดต่างประเทศแทน


         ทั้งนี้ ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอแนวทางให้ผู้ประกอบการรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรโดยตรง เพื่อเป็นการลดขั้นตอน ลดระยะเวลาในการดำเนินการให้เบ็ดเสร็จภายในประเทศไทย นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแนวทางสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ ขยายกำลังการผลิตยางในประเทศไทย ซึ่งผู้ประกอบการได้ขอให้ภาครัฐช่วยลดขั้นตอนและกระบวนการขึ้นทะเบียนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น
         อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการด่วนให้การยางแห่งประเทศไทยไปศึกษาแนวทางปฏิบัติและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อคลี่คลายข้อจำกัดของระบบการซื้อ-ขายยางพาราต่าง ๆ ให้หมดไป รวมทั้งขอให้การยางแห่งประเทศไทยสนับสนุนสถาบันเกษตรที่มีความเข็มแข็ง ให้สามารถดำเนินการซื้อ-ขายยางพาราที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการต่อไป
         สำหรับมาตรการนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในการทำถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ นั้น ได้เตรียมหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กรมทางหลวง และกรมบัญชีกลางในการจัดทำคู่มือและสูตรของส่วนผสมกลาง สำหรับเป็นมาตรฐานและแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยเตรียมส่งมอบให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่ในการทำถนนโดยตรง นำไปบริหารจัดการต่อได้ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มนำร่องสร้างถนนในหลายจังหวัดแล้ว อาทิ จังหวัดสงขลา ตรัง บึงกาฬ และหนองบัวลำพู เป็นต้น