เสนอรัฐจัดสวัสดิการชาวนา : ปรับปรุง พ.ร.บ.ข้าวเพื่อความเท่าเทียม : พัฒนาสู่ชาวนา 4.0

 

      ทำเนียบรัฐบาล - นายสมศักดิ์ คุณเงิน ประธานคณะทำงานพิจารณาร่างพระราชบัญญัติข้าว พ.ศ…. กล่าวว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติ พร้อมคณะทำงานร่วมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติข้าว พ.ศ….. เข้ายื่นความเห็นของสภาเกษตรกรต่อร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ.....ที่ทำเนียบรัฐบาล มีพลเอกดนัย มีชูเวท ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ รองประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์พร้อมคณะ รับหนังสือสรุปผลรับฟังความเห็นเรื่องดังกล่าว 

      ภายหลังการยื่นผลสรุปการรับความคิดเห็น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติในฐานะองค์กรที่เป็นตัวแทนเกษตรกรมีความห่วงใยเรื่องข้าว ชาวนา จึงได้นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาเกษตรกรแห่งชาติและมีความเห็นว่ามีหลายประเด็นที่ควรเพิ่ม เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ความเห็นภาพรวม คือ ร่าง พ.ร.บ.ควรครอบคลุมกระบวนการทั้งการผลิต การตลาด การแปรรูป หรือต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำให้ครบวงจร ซึ่งในฉบับร่างฯของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) นั้นครอบคลุมต้นน้ำ แต่กลางน้ำและปลายน้ำยังไม่ครอบคลุม สภาเกษตรกรแห่งชาติโดยคณะทำงานฯ อยากเติมในส่วนนี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

      รวมทั้ง เห็นควรว่า ชาวนาควรมีกองทุนข้าวและชาวนา ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่คณะทำงานฯ อยากให้มีเพื่อที่จะสามารถนำเงินไปใช้ในแง่ส่งเสริม ศึกษา วิจัย พัฒนา และใช้เป็นเหมือนสวัสดิการหรือบำนาญของชาวนาในอนาคต โดยให้รัฐบาลประเดิมกองทุน 20,000 ล้านบาท แล้วมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการส่งออกข้าวตัดมาเป็นสัดส่วนคอยเติม ตลอดจนเงินจากพระราชบัญญัติงบประมาณเข้ามาเสริม ซึ่งจะทำให้กองทุนนี้เติบโตและประโยชน์กลับคืนสู่ชาวนา กระบวนการผลิตหรือพัฒนาข้าว 

      อีกประการ คือ พื้นที่ปลูกข้าว 50,000 ไร่ขึ้นไปให้รัฐบาลประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตร การปลูกข้าวและเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อสนับสนุนในเชิงกายภาพโครงสร้าง เช่น แหล่งน้ำ ตลาดกลาง โรงสี ลานตาก ยุ้งฉาง โรงอบ โรงปุ๋ย เครื่องจักรกลการเกษตร เช่นเดียวกับภาครัฐได้ทำเขตนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตส่งเสริมพิเศษทางธุรกิจ ด้วยชาวนาอายุปัจจุบันเฉลี่ย 50-60 ปี ต่อไปอายุมากขึ้นจึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือช่วยผ่อนแรงเหมือนประเทศญี่ปุ่น อีกทั้ง ในอนาคตบริษัทที่รับจ้างทำนา เกี่ยวข้าว พ่นปุ๋ย จะใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วย อีก 20 ปีข้างหน้าสิ่งเหล่านี้จำเป็น และชาวนาต้องปรับตัว โดยเขตพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตร การปลูกข้าวและเกษตรกรรมยั่งยืน ต้องมีพระราชกฤษฎีกาประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในการปลูกข้าว ต้องมีเครื่องจักรเครื่องกลใช้สนับสนุนให้เป็นชาวนา 4.0 มีนวัตกรรมและเทคโนโลยี ภาคชนบทภาคเกษตรจะมีความหวังมากขึ้นและถือเป็นการช่วยแบ่งเบาลดภาระต้นทุนให้ชาวนาได้ด้วย   

      ทั้งนี้ ในส่วนเรื่องกลางน้ำกับปลายน้ำนั้น กฎหมายที่ใช้ปัจจุบัน คือพระราชบัญญัติค้าข้าวปี 2489 เป็นกฎหมายเก่ามากควรปรับปรุงแก้ไขให้ทันสถานการณ์ และให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายรวมทั้งชาวนาด้วย คณะทำงานฯ จึงมีความเห็นว่ากฎหมายการค้าข้าวสมควรที่จะยกเลิก โดยมุ่งหวังนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ข้าวฉบับสภาเกษตรกรแห่งชาติเสนอนายกรัฐมนตรี สนช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าว ฉบับของ สนช.ต่อไป