มติครม.ให้ เกษตรฯ เสนอแนวทางแก้ปัญหายางใน 7 วัน - เห็นชอบ 3 แนวทางช่วยปาล์ม

         นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (13 พ.ย.61) ว่า ที่ประชุมมีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งแก้ไขปัญหาราคายาพารา โดยหามาตรการแก้ไขและเสนอกลับเข้ามาภายใน 7 วัน พร้อมประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรโดยเฉพาะประชาชนผู้ปลูกยางได้รับทราบ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาในเรื่องของยางพาราที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ยังมีอีกหลายแนวทางที่ได้เสนอเข้าที่ประชุมอย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่าภายใน 7 วันนี้จะได้เห็นมาตรการที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของต้นทุนการผลิต การประกันราคายางสด รวมถึงสินค้าปลายทาง ที่ใช้เป็นส่วนประกอบจากยางพารา และเชื่อว่าในอนาคตจะสามารถกระตุ้นให้ราคายางพาราให้สูงขึ้นกว่าปัจจุบันได้

         นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับรายงานจากกระทรวงเกษตรฯ เรื่องนโยบายการแก้ไขราคาปาล์มแห่งชาติ โดยรัฐบาลมีมาตรการผลักดัน 3 มาตรการ คือ การปรับสต๊อกปาล์มที่ปกติมียอดการส่งออกประมาณ 3 แสนตัน ซึ่งได้แก้ไขโดยประสานกระทรวงพลังงาน นำน้ำมันปาล์มดิบไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวน 160,000 ตัน เพื่อลดปริมาณสต๊อกน้ำมันภายในประเทศ พร้อมขยายระยะเวลาส่งออกปาล์ม ที่จะสิ้นสุดประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้ เพิ่มไปอีก 6 เดือน เป็นเดือนพฤษภาคม 2562 และการนำผลปาล์มไปเพิ่มการผลิตเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลจากร้อยละ 6.5 เป็นร้อยละ 7.0
         ในส่วนของน้ำมันดีเซลบี 20 ตั้งเป้าใช้กับรถบรรทุกประมาณ 10 ล้านลิตร ซึ่งได้ให้กระทรวงพลังงานผลักดันใช้น้ำมันดีเซลบี 20 ในรถบรรทุกให้มากยิ่งขึ้น คาดว่าหลังจากนี้จะช่วยแก้ปัญหาและลดสต๊อกน้ำมันปาล์มลงได้ พร้อมทั้งได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการบริหารติดตามการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมี นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธาน รวมถึงมีแนวทางเจรจาการส่งออกปาล์ม ไปยังทวีปยุโรปให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ขณะที่ปัจจุบันราคาปาล์มอยู่ที่ 2 บาท 60 สตางค์ คาดว่าในอนาคตอันใกล้ราคาปาล์ม จะอยู่ที่ 3 บาท 10 สตางค์