เกาะติด 7 เดือนส่งออก 5 สินค้าอินทรีย์ ยอดรวม 720 ตัน

         นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ได้ติดตามสถิติการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ 5 ชนิด ได้แก่ ใบชาเขียว, มะพร้าวอ่อน, กะทิสำเร็จรูป, มังคุด และ ทุเรียน ตั้งแต่ประกาศกรมศุลกากร ที่ 45/2561 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมรหัสสถิติสินค้า มีผลใช้บังคับ (ระหว่างมีนาคม ถึง กันยายน 2561) พบว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์ 5 ชนิด ในช่วง 7 เดือนมีปริมาณการส่งออกรวมทั้งสิ้น 720 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.08 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดของสินค้า 5 ชนิดนี้ และมีอัตราการขยายตัวของปริมาณการส่งออกสินค้าอินทรีย์เฉลี่ยในช่วง 7 เดือนอยู่ที่ร้อยละ 30.53 โดยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ 5 ชนิด รวมทั้งสิ้น 76 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.16 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของสินค้าทั้ง 5 ชนิด อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยร้อยละ 105.15
         สำหรับสินค้าที่ส่งออกในช่วงระหว่างเดือน มีนาคม-กันยายน 61 มีปริมาณสูงสุดตามลำดับ ได้แก่ มะพร้าวอ่อนอินทรีย์ ส่งออกมากที่สุดรวม 475 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.89 ของปริมาณการส่งออกมะพร้าวอ่อนทั้งหมด และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 10.26 มูลค่าการส่งออกมะพร้าวอ่อนอินทรีย์ในช่วง 7 เดือน มีมูลค่า 20 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.25 ของมูลค่าการส่งออกมะพร้าวอ่อนทั้งหมด ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกหลัก (ร้อยละ 80)

         ทุเรียนอินทรีย์และทุเรียนอินทรีย์แช่เย็นจนแข็ง ส่งออก 193 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.04 ของปริมาณการส่งออกทุเรียนทั้งหมด ตลาดส่งออกหลักได้แก่ จีน ทั้งนี้ ทุเรียนอินทรีย์และทุเรียนอินทรีย์แช่เย็นจนแข็ง นับเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด โดยช่วง 7 เดือน คิดเป็นมูลค่า 52 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.17 ของมูลค่าการส่งออกทุเรียนทั้งหมด
         กะทิอินทรีย์สำเร็จรูป ส่งออก 52 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.03 ของปริมาณส่งออกกะทิสำเร็จรูปทั้งหมด และมีมูลค่าการส่งออกช่วง 7 เดือน รวม 3 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.04 ของมูลค่าการส่งออกกะทิสำเร็จรูปทั้งหมด
         ขณะที่ ใบชาเขียวอินทรีย์ และ มังคุดอินทรีย์ ยังไม่มีการส่งออกมากนัก อย่างไรก็ตาม สศก. จะเตรียมเสนอคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ เพื่อพิจารณาเห็นชอบให้จัดทำรหัสสถิติต่อท้ายพิกัดศุลกากรสำหรับชนิดสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มเติม ในระยะที่ 2 รวมทั้งกำหนดแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ต่อไป เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ด้านพัฒนาการตลาดสินค้าและบริการ และการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ในการผลักดันให้มีพิกัดศุลกากรสำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง