อุทยานวิทย์ฯ ภาคเหนือ หนุน มช. พัฒนา "ข้าวก่ำล้านนา" 3 สายพันธุ์ใหม่ (ชมคลิป)

         อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการ อุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินหน้า Flagship Project นวัตกรรมข้าวไทย ผสานความร่วมมือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่งเสริมวิจัยพัฒนาข้าวก่ำล้านนา 3 สายพันธุ์ใหม่ ก่ำเจ้า มช. 107, ก่ำหอม มช. และ ก่ำดอยสะเก็ด ที่มีคุณค่าโภชนาการสูง ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภค หนุนผลิตภัณฑ์นวัตกรรมครบวงจรผ่านกระบวนการกำจัดแมลงและไข่แมลงในข้าวด้วย UTD RF (Uniform Thermal Distribution of Radio Frequency) พร้อมบรรจุภัณฑ์ติดฉลากโลโก้มาตรฐานเพื่อสร้างมูลค่ายกระดับข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่นสู่เศรษฐกิจจากผลิตภัณฑ์นวัตกรรมข้าวไทยครบวงจร

         ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะแม่ข่ายดำเนินการบริหารจัดการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ เปิดเผยว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยพัฒนาข้าวก่ำล้านนาผ่านโครงการวิจัยร่วมกับภาคเอกชน (Collaborative Research Program)และโครงการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชนในพื้นที่ (Industrial Research and Technology Capacity Development Program: IRTC) ต่อยอดงานวิจัยด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปพัฒนาและยกระดับข้าวไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)โดยร่วมกับคณะนักวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจ ชุมชนผู้ปลูกข้าวในจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง

         รองศาสตราจารย์ ดร.ชนากานต์ เทโบลต์ พรมอุทัย นักวิจัยจากภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ สาขาวิชาพืชไร่ กล่าวว่า ข้าวก่ำล้านนาสายพันธุ์ใหม่มีจุดเริ่มต้นจากคณะวิจัยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ศึกษา ทดลอง วิจัย และพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีการปรับปรุงและการคัดเลือกพันธุ์ในแบบต่างๆ จนได้ข้าวก่ำสายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาจากสายพันธุ์ พื้นเมืองเดิมถึง 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ก่ำเจ้า มช. 107, ก่ำหอม มช. และก่ำดอยสะเก็ด ที่อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการมากกว่า ข้าวสายพันธุ์ยอดนิยมอย่างข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 โดยมีปริมาณธาตุเหล็ก สังกะสี และสารแอนโทไซยานินสูง ซึ่งมี คุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยในการป้องกันโรคหัวใจ ลดคอเรสเตอรอลและน้ำตาลในเลือด ยับยั้งการเจริญเติบโต ของมะเร็งกระเพาะ การหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และการรวมตัวของเกล็ดเลือด

         ดร.ปณิตา บุญสิทธิ์ อีกหนึ่งในคณะนักวิจัยกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ข้าวก่ำทั้ง 3 สายพันธุ์ มีลักษณะเด่นที่แตกต่างกัน โดยก่ำเจ้า มช. 107 เยื่อหุ้มเมล็ดจะมีสีม่วงดำสนิท ไม่มีสีอื่นปน และเมื่อหุงสุกหรือเย็นแล้วเม็ดข้าวก็ยังคงมีลักษณะอ่อนนุ่ม สำหรับก่ำหอม มช. จะมีกลิ่นหอม มีปริมาณธาตุเหล็ก สังกะสี และแอนโทไซยานินสูง โดยข้าวสายพันธุ์นี้ยังคงอยู่ในขั้นตอน การใช้เทคโนโลยีพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้ได้ข้าวก่ำคุณภาพดีที่สุด ตอบสนองความต้องการของตลาดในอีก 2-3 ปีข้างหน้า สำหรับสายพันธุ์ก่ำดอยสะเก็ด เมล็ดจะมีเปลือกสีม่วง เป็นข้าวเหนียวดำที่มีปริมาณแกมมาโดไรซานอล วิตามินอี และสารแอน โทไซยานินในระดับสูง และพร้อมกระจายพันธุ์แก่เกษตรกร

 

         ปัจจุบันข้าวก่ำทั้ง 3 สายพันธุ์ได้รับการพัฒนาและยกระดับข้าวไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) อย่างครบวงจร จากงานวิจัยในระดับแปลงทดสอบมาจนถึงปัจจุบันมีเกษตรกรต้นน้ำกว่า 100 ราย ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูก และสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์และปลูกข้าวก่ำสายพันธุ์ใหม่เพื่อเข้าสู่กระบวนการกลางน้ำ โดยอุทยานฯ ผลักดันให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม การกระจายเมล็ดพันธุ์ถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ และสร้างการรับรู้ในผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม ผ่านพิธีมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวก่ำสายพันธุ์ใหม่สู่เชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการครั้งแรกในงานลานนา 4.0 พลิกโฉมเมือง เหนือด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ Rice Grain Auditorium อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) แก่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ข้าวเหนียวดำดอยสะเก็ด บ้านลวงใต้ อ.ดอยสะเก็ด จ. เชียงใหม่ โดยรับมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวทั้งสามสายพันธุ์จำนวน 10 กิโลกรัม สามารถนำไปเพาะปลูกเพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ถึง 2 ไร่ และสามารถให้ผลผลิตได้มากถึง 1,000 กิโลกรัม ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเพื่อขยายจำนวนเมล็ดพันธุ์ สร้างรายได้จากการจำหน่าย และสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบต่างๆ ให้แก่เกษตรกรได้

         นอกจากนี้ ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ ยังกล่าวเสริมอีกว่า อุทยานฯ ได้นำข้าวสายพันธุ์ก่ำเจ้า มช. 107 จำนวน 300 กิโลกรัม ผ่านกระบวนการกำจัดแมลงและไข่แมลงในข้าวด้วย UTD RF (Uniform Thermal Distribution of Radio Frequency) พร้อมออกแบบฉลาก บรรจุภัณฑ์ และตราสัญลักษณ์รับรอง UTD RF เพื่อเป็นของที่ระลึกและจำหน่ายภายในงานดังกล่าวอีกด้วย นับเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันผลงานนวัตกรรมข้าวก่ำสายพันธุ์ใหม่ในเชิงพาณิชย์ โดยสร้างมูลค่า ยกระดับข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่นไทยสู่เศรษฐกิจจากผลิตภัณฑ์นวัตกรรมครบวงจร