"กฤษฎา" ยันบนเวทีระดับโลก ปี64ไทยลดดื้อยาในสัตว์ร้อยละ 30

         นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้าร่วมประชุมระดับโลกด้านการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพและการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในสัตว์ ครั้งที่ 2 ขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE)ณ เมืองมาราเกซ ราชอาณาจักรโมร็อกโก เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2561 พร้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกว่า 10 ประเทศทั่วโลก อาทิ เยอรมนี ญี่ปุ่น นอร์เวย์ แคนาดา สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อาร์เจนติน่า
         โดยในที่ประชุมมีการแบ่งปันข้อมูลและรับทราบการแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพของชาติต่าง ๆ พร้อมทั้งได้รับเชิญจาก OIE เข้าร่วมอภิปรายทางการเมือง (Political Panel) หัวข้อ "การดำเนินการตามแผนการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ" (The engagement of ministerial authorities in the implementation of national action plans against antimicrobial resistance)
         ทั้งนี้ นายกฤษฎา กล่าวว่า ไทยดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์แผนปฏิบัติการเพื่อจัดการปัญหาการดื้อยาตามแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว ซึ่งให้ความสำคัญต่อสุขภาพที่ดีของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม  ตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 – 2564 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2559  ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงาน โดยมีเป้าหมายให้ในปี 2564 ภาวะการป่วยจากเชื้อดื้อยาจะลดลงร้อยละ 50 การใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์ร้อยละ 20 และในสัตว์ลดลงร้อยละ 30 ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 อีกทั้งประเทศไทยมีระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากล


         รมว.กระทรวงเกษตรฯของไทย กล่าวอีกว่า กระทรวงเกษตรฯเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบยุทธศาสตร์ "การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง" เช่น การพัฒนาระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนเชื้อดื้อยาของประเทศแบบบูรณาการ เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพทั้งยาสำหรับมนุษย์และสัตว์ กำหนดให้มีการใช้ยาต้านจุลชีพตามใบสั่งสัตวแพทย์ และลดการใช้ยาต้านจุลชีพในฟาร์มปศุสัตว์และประมง
         "ไทยดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์ของ OIE ซึ่งสอดคล้องกับแผนดำเนินการระดับโลกตามความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ทั้งนี้การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของไทยที่ทำอย่างมียุทธศาสตร์ชัดเจนสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกับนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งจะสำเร็จได้ต้องใช้ระยะเวลาและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ประเทศไทยมั่นใจว่าแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาซึ่งเป็นปัญหาที่ซับซ้อนได้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้" นายกฤษฎา กล่าว

         ด้าน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับเชิญร่วมประชุม OIE ครั้งนี้ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร 10 กว่าประเทศ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะ OIE delegate และ OIE focal point for Veterinary Products จากประเทศสมาชิก 182 ประเทศ รวมถึงผู้กำหนดนโยบายองค์กรระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญ และแหล่งทุน เพื่อนำเสนอการดำเนินการการจัดการเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นและการสนับสนุนการดำเนินการของ OIE
         สำหรับ OIE ในฐานะผู้นำด้านสุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์ได้แก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพผ่านการกำหนดมาตรฐานสำหรับการเสริมสร้างขีดความสามารถการทำงานของสัตวแพทย์ ผู้ผลิตสัตว์ และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ  โดยมียุทธศาสตร์ในการจัดการเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพและการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ซึ่งมีวัตถุประสงค์ 4 ข้อที่สะท้อนหลักการของ Global action Plan on  AMR ประกอบด้วย
         1. เพิ่มความตระหนักรู้และความเข้าใจ 2. สร้างความเข้มแข็งของการเฝ้าระวังและการวิจัย 3. สนับสนุนธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการและการเสริมสร้างศักยภาพ และ 4. สนับสนุนการดำเนินการตามมาตรฐานสากลเนื่องจากปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพโลกที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งต่อประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา เนื่องจากหากมีการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์อย่างเหมาะสม จะทำให้ไม่ตกค้างในเนื้อสัตว์ ผู้บริโภคลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดื้อยาต้านจุลชีพด้วย เป็นห่วงโซ่กันไป เมื่อเจ็บป่วยจากเชื้อแบคทีเรียจึงสามารถหายารักษาได้ง่าย ดังนั้นจึงมีข้อเรียกร้องจากเวทีโลกขอให้ทุกประเทศเร่งพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ระดับประเทศเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว