ได้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี 2ชุมชนน่านผลิต "ไข่เค็ม-เห็ด" เป็นสินค้าขายดี (ชมคลิป)

         นายปรีชา กิตติสัตยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ ได้ลงพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อชมการดำเนินงานของกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จำนวน 2 แห่ง คือ กลุ่มไข่เค็มบ้านแสงดาวพัฒนา และ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดบ้านศรีนาชื่น ช่วงระหว่างวันที่ 24 - 26 ต.ค. 2561

 

         สำหรับ กลุ่มไข่เค็มบ้านแสงดาวพัฒนา เป็นกลุ่มผู้ผลิตไข่เค็มสมุนไพรที่ประสบความสำเร็จ เริ่มจากการเป็นชุมชนที่มีพื้นที่ทำการเกษตรน้อย ประสบปัญหาน้ำท่วมขังทุกปี และไข่ไม่เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภค ชาวบ้านจึงมีแนวคิดเรื่องการถนอมอาหารไว้บริโภคในครัวเรือน ก่อนที่ต่อมาจะมีการรวมตัวของกลุ่มแม่บ้านผลิตไข่เค็ม สมุนไพรขายเป็นรายได้เสริม จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและได้รับการสนับสนุนเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP

         ปัจจุบันกลุ่มไข่เค็มบ้านแสงดาวมี นางระเบียบ ปางน้อย เป็นประธาน มีสมาชิกรวม 30 คน ได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี 200,000 บาท มีการผลิตไข่เค็มออกขายทั้งในตลาดชุมชน ตลาดท่องเที่ยว ตลาด OTOP รวมถึงขายส่งให้กับร้านค้าทั้งในและต่างจังหวัด ทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชน สมาชิกมีรายได้เสริม และมีคุณภาพชีวิตที่มั่นคง

         ส่วน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดบ้านศรีนาชื่น ตั้งอยู่หมู่ 4 ตำบลทุ่งศรีทอง อำเภอเวียงสา มี นางเนาวรัตน์ ชุ่มวงศ์ เป็นประธาน มีสมาชิกกลุ่ม 24 คน ได้รับการสนับสนุนเงินกู้ยืมจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี 100,000 บาท โดยเห็ดที่เปิดออกขาย ได้แก่ เห็ดนางฟ้า เห็ดภูฏาน เห็ดหูหนู เห็นนางรมดำ เห็ดฮังการี เห็ดขอนขาว เห็ดขอนดำ ผลิตภัณฑ์แปรรูปเห็ด เช่น เห็ดหยอง แหนมเห็ด น้ำยาเห็ด ส่งขายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วจังหวัด รวมถึงมีออเดอร์จากต่างจังหวัด และแม่ค้ามารับซื้อถึงในชุมชน

         นอกจากนี้ทางกลุ่มยังได้ผลิตก้อนเห็ด หัวเชื้อเห็ด และดอกเห็ด ขายให้กับสมาชิกและผู้สนใจ พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปรับปรุงสถานที่เพื่อผลิตหัวเชื้อให้ได้มาตรฐาน การลดต้นทุนการผลิตก้อนเห็ด การปรับปรุงและพัฒนา เตานึ่งก้อนเห็ดจากพลังงานชีวมวล ทำให้เกิดการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน

        "การดำเนินงานของกลุ่มสตรีทั้ง 2 กลุ่มนี้ ถือเป็นตัวอย่างให้ทุกคนได้เห็นถึงพลังและความสามารถของสตรี ซึ่งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ยืนยันที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจของกองทุนฯ ตามยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้ ภายใต้วิสัยทัศน์ 'เป็นแหล่งทุนในการพัฒนาสตรี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น' อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อคุณภาพชีวิตสตรีทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องและเต็มความสามารถต่อไป" นายปรีชา กล่าว
         สำหรับ จังหวัดน่าน ปัจจุบันมีสมาชิกกองทุนฯประเภทบุคคลธรรมดา 139,561 คน และประเภทองค์กร 644 องค์กร มีการจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2561 ทั้งสิ้น 18,619,400 บาท แยกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ งบบริหารจัดการกองทุนฯ 3,612,700 บาท, งบลงทุน 6,700 บาท, งบอุดหนุน 3,000,000 บาท มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติ 48 โครงการ และ งบทุนหมุนเวียน 12,000,000 บาท มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติ 74 โครงการ