ยุทธศาสตร์น้ำ ยุทธศาสตร์ความคุ้มค่า

ยุทธศาสตร์น้ำ ยุทธศาสตร์ความคุ้มค่า
โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

         น้ำเป็นปัญหาคลาสสิกมาก เพราะนิยามน้ำ หมายถึง ชีวิต การวางแผนจึงจำเป็นที่ต้องเป็นระบบและปรับตามสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
         เพราะหากไม่ได้จัดวางระบบแต่ต้น ดังนั้น เมื่อมีปัญหาน้ำขึ้นมา ส่วนหนึ่งจึงลงเอยเอาที่จัดตั้งหน่วยงานนั่นนี่ขึ้นมา โดยมีภารกิจต่างไปจากหน่วยงานที่มีอยู่เดิม
         น่าตกใจนักว่า มีหน่วยงานเกี่ยวกับน้ำมากถึง 38 หน่วยงาน กระจายอยู่ใน 7 กระทรวง
         ต่างคน ต่างทำ ต่างคน ต่างภารกิจ ทุกหน่วยมุ่งที่แผนงาน โครงการของตัวเอง ลงท้ายด้วยการเสนอของบประมาณดำเนินการ
         หน่วยงานพิจารณาแผนงาน โครงการ ก็มีข้อจำกัด พิจารณาแต่เพียงความถูกต้องของโครงการและตัวเลข แต่เรื่องที่จะเห็นภาพรวมนั้นก็คงไม่ใช่ ยิ่งด้านเทคนิคแล้วอาจขาดความลึกซึ้งได้
         สุดท้ายเมื่อต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างได้งบประมาณ ก็ไปดำเนินการ ส่วนที่ว่าจะเป็นผลดีแค่ไหน เพียงใดก็ยังตอบได้ครึ่งๆ กลางๆ เพราะไม่มีใครมากำกับ แต่กำกับตัวเอง ผลลัพธ์ออกมาจึงดีหมด
         ทั้งที่ความจริง อาจดีเฉพาะจุด และการที่ต่างหน่วยต่างทำ ย่อมไม่เกิดการไม่เชื่อมโยงร้อยเรียงกัน ไม่แก้ปัญหาทั้งระบบ ซ้ำร้ายสร้างปัญหาอีกด้วย เท่ากับเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า
         สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ไม่ได้มีสถานะเพียงผู้กำกับ (Regulator) เท่านั้น หากยังวางทิศทางการบริหารจัดการน้ำ และการพิจารณาคัดกรองแผนงาน โครงการ อีกด้วย
         งบประมาณการบริหารจัดการน้ำกระจายอยู่ใน 3 แหล่งตามลักษณะงาน
         Agenda Base เป็นแผนงานโครงการตามนโยบายรัฐบาล
         Function Base แผนงานโครงการของหน่วยงานที่ดำเนินการตามกรอบภารกิจที่กำหนด
         Area Base แผนงานโครงการตามพื้นที่จังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด
         เดิมที Agenda Base รัฐบาลจะมอบหมายหน่วยงานเกี่ยวข้องไปดำเนินการ ส่วน Function Base เป็นกระทรวงใครกระทรวงมัน ดูแล ในขณะ Area Base เป็นงบประมาณของจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด ภายใต้กระทรวงมหาดไทย โดยมีสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำกับดูแล
         ทั้งหลายทั้งปวงมีสำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย และสภาพัฒน์ฯเป็นหัวเรือใหญ่คอยคัดกรองโครงการอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเห็นใจมาก
         เมื่อ สทนช. ได้รับการเสนอชื่อเข้าไปร่วมคัดกรองแผนงานโครงการกับสำนักงบประมาณ ไม่เพียงทำให้แผนงานโครงการเข้ารูปเข้ารอย เข้าตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นภาพการเชื่อมต่อของแผนงานโครงการชัดเจนขึ้น สอดรับการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ เพราะไม่สามารถเสนอแผนงานโครงการโดดๆ หากต้องเสนอให้เห็นทั้งระบบ ส่วนงบประมาณเป็นเรื่องค่อยๆ กระจายตามมา
         เมื่อเป็นเช่นนี้จะตอบโจทย์ได้ทั้งการแก้ไขปัญหา และยุทธศาสตร์น้ำ รวมทั้งความคุ้มค่าของงบประมาณที่ลงไป

         งบประมาณปี พ.ศ.2561 แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้รับงบประมาณ 62,831.59 ล้านบาท ผลงานออกมาเริ่มเป็นรูปธรรมชัดขึ้น โดยเฉพาะการตอบโจทย์ 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
         ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค เป้าหมาย จำนวนครัวเรือนนอกเขตกรุงเทพฯ เข้าถึงน้ำประปา 145,638 ครัวเรือน
         ยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต เป้าหมาย พื้นที่รับประโยชน์จากน้ำเพิ่มขึ้น 396,863 ไร่ ปริมาตรการกักเก็บน้ำ/ปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 212.46 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้รับประโยชน์ 230,411 ครัวเรือน
         ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย เป้าหมาย พื้นที่รับผลกระทบน้ำท่วมและอุทกภัยลดลง 442,874 ไร่ และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ 24 ร่องน้ำ ป้องกันตลิ่ง 106,926 เมตร
         ยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพน้ำ เป้าหมาย แหล่งน้ำทั่วประเทศมีคุณภาพระดับพอใช้ขึ้นไป ไม่น้อยกว่า 80% พื้นที่ได้รับการป้องกันระดับความเค็ม 40,000 ไร่
         การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน เป้าหมาย จำนวนพื้นที่ป่าที่ได้รับการปลูกฟื้นฟูระบบนิเวศ 60,000 ไร่
         ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการองค์กร กฎหมาย ระบบฐานข้อมูล ติดตาม ประเมินผล ประชาสัมพันธ์ เป้าหมาย มีแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ 25 ลุ่มน้ำหลัก ซึ่งก็เริ่มมีผลทยอยออกมา ล่าสุด ร่าง พ.ร.บ. น้ำที่ผ่านสภาอย่างท่วมท้น..
         ส่วนแผนงานโครงการตามนโยบายรัฐบาลและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีทั้งสิ้น 486 โครงการ งบประมาณ 40,554 ล้านบาท
         ซึ่งเกือบร้อยละ 40 ยังขาดแผนงานโครงการของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและแผนงานน้ำของกรมต่างๆ ซึ่ง สทนช. น่าจะเข้าไปมีบทบาทจริงจังในการพิจารณากลั่นกรองงบประมาณปี 2563 ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจฯ กระทรวงมหาดไทยและสำนักงบประมาณ
         โดยรวมๆ การบริหารจัดการน้ำของประเทศจะเป็นทิศทางที่ชัดเจนยิ่งกว่าในอดีตที่ผ่านมา ทั้งยุทธศาสตร์และแผนงานโครงการต่างๆ รวมถึงงบประมาณที่สะท้อนกับปัญหาในพื้นที่มากขึ้น