ขยายเวลาหนุน"ข้าวโพดหลังนา"-เติมน้ำลงเขื่อน : แผนปฎิบัติการฝนหลวง

 

       รุงเทพฯ - นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์พื้นที่การเกษตรในหลายภูมิภาคของประเทศ พบว่าเกษตรกรเริ่มประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้พื้นที่การเกษตรยังคงมีความต้องการน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงพืชอีกหลายชนิดที่อยู่ระหว่างการเจริญเติบโต เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อยและมันสำปะหลัง พบว่าพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยเก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ถึงเดือนมกราคม 2562 ซึ่งขณะนี้เกษตรกรและอาสาสมัครฝนหลวงได้ขอรับบริการฝนหลวงมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ยังมีความต้องการปริมาณน้ำเก็บกักให้มากขึ้น

       ดังนั้น กรมฝนหลวงฯ จึงต้องเร่งเพิ่มปริมาณน้ำให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้สอดรับกับโครงการสานพลังประชารัฐ สนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเป็นรูปแบบการปฏิรูปภาคเกษตรให้ผลผลิตสมดุลกับตลาดสามารถยกระดับรายได้เกษตรกรได้จริง โดยกรมฝนหลวงฯ ได้ปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงขยายเวลาปฏิบัติการ จากที่กำหนดปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศในวันที่ 31 ตุลาคม ให้ขยายเวลาไปจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ หรืออาจขยายการปฏิบัติการต่อเนื่องไปจนกว่าสภาพอากาศจะไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติการ โดยจะติดตามสถานการณ์สภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ตลอด 24 ชม ถ้าพบว่าสภาพอากาศเหมาะสมก็จะขึ้นบินปฏิบัติการทันที ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งให้ระดมกำลังไปปฏิบัติการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบนี้แล้ว

       นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลรวมการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่เริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม-18 ตุลาคม 2561 มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง 218 วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 95.15 ขึ้นบินปฏิบัติงาน 4,162 เที่ยวบิน ปริมาณการใช้สารฝนหลวง 3502.63 ตัน พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์สำหรับภารกิจปฏิบัติการฝนหลวง 1,809 นัด พลุแคลเซียมคลอไรด์สำหรับภารกิจปฏิบัติการฝนหลวง 84 นัด จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 58 จังหวัด 

      สำหรับ ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในภูมิภาคต่างๆ ระหว่างวันที่ 20 กันยายน-31 ตุลาคม 2561 ปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ตามเป้าหมาย ได้แก่ ภาคเหนือ ที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ มีปริมาณน้ำไหลเข้า 8.030 ล้าน ลบ.ม.จากแผนคาดการณ์ 10 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เขื่อนลำแชะ จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำไหลเข้า 4.630 ล้าน ลบ.ม.จากแผนคาดการณ์ 5 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง ที่อ่างเก็บน้ำทับเสลา จ.อุทัยธานี มีปริมาณน้ำไหลเข้า 10.550 ล้าน ลบ.ม.จากแผนคาดการณ์ 5 ล้าน ลบ.ม. และ ภาคตะวันออก ที่อ่างห้วยยาง จ.สระแก้ว มีปริมาณน้ำไหลเข้า 3.12 ล้าน ลบ.ม.จากคาดการณ์ 12 ล้าน ลบ.ม.ส่วนอ่างเก็บน้ำและเขื่อนอื่นๆ จะเร่งปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้รองรับความต้องการของเกษตรกรได้อย่างเพียงพอ