น้อมนำศาสตร์พระราชาปฏิรูปบริหารจัดการน้ำ : ลดงบประมาณชาติมหาศาล

 

      ายการศาสตร์พระราชา เมื่อวันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดถึงประเด็นการบริหารจัดการน้ำในรัฐบาล คสช.ได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

       แนวทางของรัฐบาลคือปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ด้วย 3 เสาหลักที่พูดกันมาโดยตลอด นั่นคือ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์น้ำ การจัดทำร่างกฎหมายน้ำ และการจัดตั้งองค์กรกลางกำกับดูแล

       ทั้ง 3 เสาหลักเพิ่งครบถ้วนสมบูรณ์ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.... ในวาระ 3 ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น เพราะ 2 เสาหลักอย่าง แผนยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี และองค์กรกลางกำกับดูแลน้ำของประเทศอย่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้เรียบร้อยแล้ว

       การบริหารจัดการน้ำของประเทศจึงมีความครบถ้วน ในอันที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างเต็มที่และเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของประเทศไทย เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นลักษณะแต่ละหน่วยงานด้านน้ำต่างคนต่างทำ

       ไม่แต่เพียงความสำเร็จในเชิง 3 เสาหลักที่จัดตั้งสมบูรณ์ หากการดำเนินงานที่ผ่านมา อย่างน้อย 2 เสาหลักที่มีมาก่อน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ได้ดำเนินการขับเคลื่อนและมีผลงานรูปธรรมมาแล้ว โดยผ่าน สทนช.โดยเฉพาะการจัดทำแผนยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี และการบูรณาการแผนงานโครงการเกี่ยวกับน้ำ ประจำปีงบประมาณ 2561 และ 2562

       เป็นการขับเคลื่อนการบูรณาการที่เห็นถึงความชัดเจนเป็นลำดับ แม้ระยะแรกจะมีอาการอิดเอื้อนจากหน่วยงานปฏิบัติบ้างถือเป็นธรรมดา แต่เมื่อมี พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 แล้ว เชื่อว่าภายใต้กรอบกฎหมายฉบับนี้จะทำให้การบูรณาการต่างๆ ได้รับความร่วมมือด้วยดียิ่งขึ้น

       นับเป็นการแยกบทบาทระหว่างการกำกับนโยบายน้ำผ่านหน่วยงาน สทนช. กับหน่วยงานปฏิบัติการให้เห็นชัดเจนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย

       พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เพียงแต่พึงใจในแนวทางการปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำเพียงประการเดียว ตรงข้าม ผลงานของการบริหารจัดการน้ำแนวใหม่ได้สร้างผลสะเทือนของการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่น่าบันทึก

       “รัฐบาลนี้ได้น้อมนำศาสตร์พระราชา มาเป็นแนวทางในการปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำทั้ง 3 เสาหลัก ได้แก่ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ การจัดทำร่างกฎหมาย และการจัดตั้งองค์กรกลางในการกำกับดูแล (กนช./สทนช.) อีกทั้ง ได้จัดทำระบบ Area Base 66 เพื่อตอบโจทย์น้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเค็มรุก พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว ครอบคลุมพื้นที่ราว 30 ล้านไร่ ที่สามารถลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด และช่วยประหยัดงบประมาณในการดำเนินการได้มาก เมื่อเทียบกับการทำงานแบบเดิมๆ” โดยนายกฯ ได้ยกตัวอย่างรูปธรรมความสำเร็จ 3 ส่วนใหญ่ๆ ดังนี้

        1.พื้นที่ได้รับผลกระทบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง “ลดลง” ใช้งบประมาณช่วยเหลือเยียวยา “น้อยลงมาก” ในบริบทที่มีปริมาณฝนใกล้เคียงกัน โดยยกเอาปี 2560 เปรียบเทียบปี 2554 มีปริมาณฝน 1,800-1,900 มิลลิเมตร แต่พื้นที่ได้รับความเสียหายลดลง 2.5 เท่า ใช้งบประมาณช่วยเหลือเยียวยาเพียง 8,600 ล้านบาท ลดลงจากปี 2554 ที่ใช้ 41,000 ล้านบาท หริอลดลงจากปี 2553 ที่ใช้ 22,600 ล้านบาท

        2.พื้นที่ประกาศเขตการช่วยเหลือภัยแล้งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง สถิติในช่วง 6 ปี (พ.ศ.2556-2561) ลดลงจาก 30,000 หมู่บ้าน 12,000 หมู่บ้าน 8,000 หมู่บ้าน 3,700 หมู่บ้าน 85 หมู่บ้าน และ 0 หมู่บ้าน ตามลำดับ ช่วยลดงบประมาณช่วยเหลือเยียวยาตามมา จากปี 2557-2561 จาก 2,500 ล้านบาท 1,042 ล้านบาท 1,001 ล้านบาท 49 ล้านบาท และเหลือเพียง 42 ล้านบาทในปี 2561 เทียบกับปี 2555 เคยใช้มากถึง 8,600 ล้านบาท

        “หากไม่มีการปฏิรูปแบบบูรณาการ เพื่อป้องกันอย่างยั่งยืนแล้ว เราจะต้องสูญเสียงบประมาณไป เพื่อแก้ไขจำนวนมหาศาล แทนที่จะนำไปใช้พัฒนาบ้านเมือง หรือแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนในส่วนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

        3.ภาพรวมในการใช้งบประมาณช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม-ภัยแล้ง ทั้งด้านเกษตรและด้านอื่นๆ ช่วง 11 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2551-2561) เฉพาะช่วงรัฐบาล คสช.(พ.ศ.2557-2561)ใช้งบในส่วนนี้เพียง 18,000 ล้านบาท เทียบกับช่วงปี 2554-2557 ที่ใช้งบประมาณเกือบ 90,000 ล้านบาท หรือช่วงปี 2551-2554 ใช้งบราวๆ 50,000 ล้านบาท เท่ากับประหยัดกว่า 4.8 เท่า และ 2.7 เท่าตามลำดับ

        เป็นคำพูดที่เต็มปาก เต็มคำ เพราะล้วนมีตัวเลขประกอบอ้างอิงอย่างเป็นรูปธรรม ถือเป็นผลงานของรัฐบาล คสช.นั่นเอง