รุกคืบ"เกษตรพันธสัญญา" : ความเป็นธรรมระหว่างเกษตรกร-ผู้ประกอบการ

 

     รุงเทพฯ 6 ต.ค.- นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า เตรียมจัดทำแผนพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาเสนอคณะรัฐมนตรีให้การเห็นชอบภายใน 4 เดือน อีกทั้ง จะเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่บุคลากรของกระทรวงเพื่อจะได้แนะนำและให้ข้อมูลแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการรับทราบอย่างต่อเนื่อง และจะขอความร่วมมือผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรจัดส่งร่างสัญญาให้กระทรวงเกษตรฯเก็บไว้ เพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจสอบ

       สำหรับ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้มา 1 ปีแล้ว เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการทำเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญา โดยวางหลักเกณฑ์ มาตรการในการกำกับดูแลการทำสัญญาให้เกิดความเป็นธรรม โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจการเกษตรมีหน้าที่จัดทำเอกสารสำหรับชี้ชวนและร่างสัญญาให้เกษตรกรทราบล่วงหน้าเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเข้าทำสัญญา

       ขณะนี้มีผู้ประกอบการสนใจขึ้นทะเบียน 187 ราย มีเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญา กว่า 200,000 ราย ทั้งด้านพืช เช่น อ้อยโรงงาน เมล็ดพันธ์ข้าวโพด มันฝรั่ง พืชผัก ด้านปศุสัตว์เช่น ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และด้านประมงเช่น ปลานิล ปลาทับทิม ตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมได้แก่ ผู้ผลิตมันฝรั่งอบกรอบ“เลย์”บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ดำเนินการภายใต้สัญญาข้อตกลงซื้อขายผลผลิตมันฝรั่งที่กำหนดราคารับซื้อที่แน่นอน ส่งเสริมเกษตรกรใน 6 จังหวัดภาคเหนือปลูกมันฝรั่ง 3,500 ราย รวมพื้นที่  22,000 ไร่ 

       นายบุญศรี ใจเป็ง ผู้นำกลุ่มเกษตรกร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เดิมรายได้ไม่มั่นคง ราคารับซื้อของพ่อค้าคนกลางไม่แน่นอน แต่เมื่อเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา (CONTRACT FARMING) ที่ระบุชัดเจนถึงจำนวนที่ต้องผลิต คุณภาพที่รับซื้อ จึงขายผลผลิตได้ตามราคาที่ตกลงกัน ถือว่าเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบเหมือนในอดีต

       ทั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ตามที่กฏหมายที่มีความจำเป็นต่อการปฏิบัติงานเรียบร้อยแล้ว 4 ฉบับ เช่น หลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งประกอบธุรกิจ อยู่ระหว่างการพิจารณา อีก 2 ฉบับ และหากมีความจำเป็นสามารถพิจารณาออกประกาศได้ตามสภาวะและสถานการณ์ในอนาคต อีกทั้ง ได้รับเรื่องร้องเรียนและให้กระทรวงเกษตรฯไกล่เกลี่ย ยุติข้อพิพาท จำนวน 2 เรื่องซึ่งสามารถประนีประนอมยอมความกันได้หมด 

       คณะกรรมการฯ ยังมีมติมอบหมายให้ศึกษาและจัดทำสัญญาแนะนำเพื่อเผยแพร่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ ทั้งจัดทำสัญญาแนะนำเพิ่มเติมอีก เพื่อให้มีรูปแบบสัญญาที่หลากหลายและครอบคลุมการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรในแต่ละชนิด

       “กฏหมายเกษตรพันธสัญญา ออกมาเพื่อใช้เพื่อสร้างความเป็นธรรมระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการ เช่น มาตรา 20 ได้มีข้อกำหนดในเชิงควบคุมการทำสัญญา ต้องระบุราคา วิธีการคำนวณวัตถุดิบ และผลผลิต ใช้ราคาในวันเวลาใด รวมถึงกำหนดวันสถานที่ส่งมอบ เป็นต้น” รมว.เกษตรกล่าว

       สำหรับผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร หรือเกษตรกรรายใดที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตร เกษตรตำบล เกษตรอำเภอ ปศุสัตว์อำเภอ สหกรณ์อำเภอในพื้นที่ รวมทั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โทรศัพท์ 02-281-5955 ต่อ 354 สายด่วนโทร 1170