งบประมาณน้ำของแผ่นดิน : การถ่างขยายเส้นเลือดที่ตีบตัน

 

      งบประมาณแผ่นดินเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำของทุกหน่วยงานรวมแล้วนับแสนล้านบาทแต่ละกระทรวงนำเสนองบประมาณบนพื้นฐานของภารกิจของตัวเอง โดยไม่มีการเชื่อมโยงกับกระทรวงอื่น

       บ่อยครั้งที่มีการทับซ้อนของแผนงานโครงการพื้นที่เดียวกัน แต่มีหลายหน่วยงานเข้าไปดำเนินการในลักษณะต่างคนต่างทำ ไม่ล่วงรู้ถึงสิ่งที่หน่วยงานอื่นทำอยู่หรือกำลังจะทำ ซ้ำประโยชน์อาจขัดแย้งกัน สุดท้ายบังเกิดประโยชน์แต่น้อย ไม่คุ้มค่าการลงทุน ซึ่งงบประมาณน้ำมี 3 แหล่งใหญ่ คือ 1.โครงการสำคัญ เช่น โครงการพระราชดำริ โครงการจากรัฐบาลโดยตรง 2.โครงการของกลุ่มจังหวัดหรือจังหวัด และ 3.โครงการตามภารกิจของหน่วยงาน

       น่าจะเป็นนิมิตรหมายที่ดีตรงที่มีการบูรณาการแผนงานโครงการและงบประมาณของทั้งสามแหล่งโดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องคอยคัดกรองแผนงานโครงการนั้นๆ โดยแหล่งที่ 1 และ 3 สทนช.ทำหน้าที่คัดกรองอยู่แล้วร่วมกับสำนักงบประมาณและหน่วยงานนั้นๆ แต่แหล่งที่ 2 ซึ่งดูแลโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้น สทนช.ยังไม่ได้เข้าไปร่วมกำกับ และเป็นช่องโหว่ที่มักมีหน่วยงานแทรกเข้าไปจัดทำแผนงานโครงการเกี่ยวกับน้ำ อาศัยงบจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด ภายใต้กระทรวงมหาดไทย

      ว่าไปแล้ว ต้องชื่นชมรัฐบาลที่เข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ เพราะลำพังสำนักงบประมาณเองก็ดี สภาพัฒน์เองก็ดี ยากนักจะเข้าใจบริบทการบริหารจัดการน้ำอย่างลึกซึ้ง ซึ่งการที่รัฐบาลมอบหมายให้ สทนช.เข้าร่วมกับหน่วยงานเหล่านี้ตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 และวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 เท่ากับเพิ่มผู้เล่นอย่าง สทนช.ในการคัดกรองแผนงานโครงการได้ดียิ่งขึ้น

      ที่สำคัญ เป็นการกำกับทั้งความเหมาะสมของโครงการและงบประมาณที่สอดประสานกับยุทธศาสตร์น้ำแห่งชาติ 20 ปี ที่ครอบคลุม 6 ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย การจัดการคุณภาพน้ำ การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และการบริหารจัดการองค์กร กฎหมาย ระบบฐานข้อมูล ติดตามประเมินผลและประชาสัมพันธ์

      เท่ากับรัฐบาลคุมแผนงาน โครงการ เกี่ยวกับบริหารจัดการน้ำของประเทศแทบจะเบ็ดเสร็จ และเกิดประโยชน์ต่อทิศทางการบริหารจัดการน้ำในอนาคต ต่างจากแบบเดิมที่ปล่อยให้แต่ละหน่วยงาน และกระทรวงละเลงแผนงานโครงการและงบประมาณโดยเอกเทศ ไม่ตอบโจทย์น้ำในภาพรวมของประเทศด้วยซ้ำ โดยรัฐบาลเองได้แต่ทำตาปริบๆ

      ผู้เล่นที่มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ ส่วนหนึ่งมาจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ตั้งข้อสังเกตว่า “ต้องปรับปรุงกระบวนวิธีการใหม่ เพื่อลดความซ้ำซ้อนกับแผนงานอื่น”

      คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 เองตระหนักดีว่า แผนงานต่างๆ มีความซ้ำซ้อนซ่อนเงื่อนนั้นเอง เพราะมีการแยกกระจายกันอยู่คนละแผนงาน ขณะเดียวกัน ไม่อาจตรวจสอบความสอดคล้องเหมาะสมต่อการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ เพราะเสนอทำนั่นนิด ทำนี่หน่อย แต่ไม่ได้เสนอทั้งระบบ ทำให้ไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ กลายเป็นการสูญเสียงบประมาณไป 

      เป็นกระดูกชิ้นใหญ่ที่ สทนช.ต้องฟันฝ่าให้ได้ ไม่เช่นนั้นการบริหารจัดการน้ำของประเทศก็เสียของ

      ตรงข้าม หากสำเร็จหรือพัฒนาดีขึ้นก็ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่นกัน