"เกษตรอินทรีย์"ยุทธศาสตร์ชาติ : เร่งขับเคลื่อนพุ่งเป้าผู้นำภูมิภาค

 

     กรุงเทพฯ –  นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานวันสถาปนาครบ 46 ปีกรมวิชาการเกษตร โดยกล่าวแก่ผู้บริหารและข้าราชการว่า ปีงบประมาณใหม่นี้กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งรัดโครงการเกษตรอินทรีย์ โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลและขยายผลเป็นอย่างรูปธรรมตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2560-2564 ของรัฐบาลที่ว่า "ประเทศไทยจะเป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้านการผลิต การบริโภค การค้าสินค้า และการบริการเกษตรอินทรีย์ ที่มีความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล" ซึ่งจะต้องศึกษาวิจัยสร้างองค์ความรู้ จัดทำฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ของประเทศ รวมถึงการกำหนดพื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชแต่ละชนิด (Zoning by Agri-map) ตลอดจนบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ทุกรูปแบบ  

      ทั้งนี้ ได้มอบหมาย นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการศึกษาและเผยแพร่วิถีการทำเกษตรยั่งยืน ขณะนี้อยู่ระหว่างเขียนแผนดำเนินงาน จากนั้นจะเผยแพร่และส่งเสริมการทำการเกษตรโดย ลด ละ เลิกการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและกำจัดศัตรูพืชให้แก่เกษตรกร ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือนักวิชาการ ภาคประชาสังคมที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้สารเคมีช่วยรณรงค์และให้ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อให้มีทางเลือกในการทำเกษตรแบบยั่งยืนโดยสามารถลดต้นทุนในการกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช รวมทั้งตระหนักถึงความปลอดภัยทั้งของเกษตรกรและผู้บริโภค 

      นายกฤษฎา กล่าวอีกว่าได้กำชับกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายให้ควบคุมเกษตรกรให้ใช้สารเคมีตามความจำเป็นและถูกต้องตามหลัก GAP ทั้งต้องไม่ให้มีสารเคมีตกค้างในผลผลิตเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนด ล่าสุด ผลของโครงการเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในผักและผลไม้สดของไทย ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เก็บตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปีนี้ พบว่ามีสารตกค้างเกินมาตรฐานร้อยละ 11 ต่อมาได้มีผู้แสดงความเห็นผ่านสื่อโซเชียลมีเดียถึงผลตรวจวิเคราะห์ว่าไม่น่าเชื่อถือนั้น นายกฤษฎาได้ชี้แจงย้ำว่าโครงการตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผักและผลไม้ร่วมมือกันดำเนินการ 4 หน่วยงาน คือ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

      โดยเก็บตัวอย่างผักและผลไม้สดจากทั่วประเทศครอบคลุมตั้งแต่แปลงเกษตรกร โรงคัดบรรจุผักผลไม้สด ห้างค้าปลีก ตลาดค้าส่งค้าปลีก และครัวของโรงพยาบาลรัฐ ผลการตรวจวิเคราะห์ผักและผลไม้รวม 7,054 ตัวอย่าง พบว่า 6,264 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 79 อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ส่วนที่พบสารพิษตกค้างระดับเกินมาตรฐานมี 790 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 11 และจาก 790 ตัวอย่าง มี 10 ตัวอย่าง ที่พบสารเคมีในระดับสูงเกินระดับที่ปลอดภัย หรือคิดเป็นร้อยละ 0.14 ของจำนวนตัวอย่างที่ตรวจวิเคราะห์ทั้งหมด จากนั้นได้ตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับไปถึงแหล่งผลิตระดับแปลงเกษตรกรหรือโรงคัดบรรจุ เพื่อตักเตือนให้คำแนะนำให้ใช้สารเคมีให้ถูกต้อง รวมทั้งสั่งให้มีการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งหากแก้ไขไม่ได้ จะดำเนินการอย่างเฉียบขาดทั้งถอนใบรับรองที่เกษตรกรได้รับหรือใบอนุญาตของโรงคัดบรรจุ รวมทั้งการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

      สำหรับการดำเนินงานขั้นต่อไปจะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขพัฒนาและยกระดับโรงคัดบรรจุ ให้มีมาตรฐาน อีกทั้งในส่วนของตลาดสดจะพัฒนาให้ถูกอนามัยและปลอดภัย ลดสัดส่วนผักและผลไม้สดที่มีสารเคมีตกค้างให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ