ขอ"บึงราชนก"กลับคืน : ฟื้นฟูสู่แก้มลิงกลางเมือง

 

 

        ด้วยนโยบายเร่งด่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เลยทำให้บึงราชนก จ.พิษณุโลก กระเพื่อมกระฉอกขึ้นมา

        เพราะมีทั้งผลการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่สะท้อนถึงความผิดปกติของการใช้งบประมาณที่ไม่สอดคล้องวัตถุประสงค์ บึงถูกบุกรุกขาดความใส่ใจจากหน่วยงานรับผิดชอบ ทั้งน้ำหลากท่วมพื้นที่ และขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง

        ไปๆ มาๆ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เข้ามาจัดการแก้ไขพัฒนาบึงราชนก โดยมุ่งให้เป็นแหล่งรับน้ำในฤดูน้ำหลากเสมือนแก้มลิง และนำน้ำไปใช้เพื่อการเกษตรหรืออุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลศึกษาจัดทำแผนแม่บทฟื้นฟู ซึ่งผลศึกษาใกล้ปิดเต็มทีภายในเดือนกันยายนนี้

       บึงราชนกอาจไม่ใช่บึงใหญ่ แต่ขนาดพื้นที่กว่า 4,865 ไร่ ถือว่าไม่เล็ก ทว่า ที่แปลกไปกว่าทุกบึงคือ มีการขอใช้พื้นที่เต็ม 100% จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก (อบจ.) มหาวิทยาลัยนเรศวร การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) แต่ใช้บ้างไม่ใช้บ้าง จนรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ประธานการประชุมปลายปี 2560 ขอคืนพื้นที่ ปรากฏว่ามีการคืนจากการ กกท.1,057 ไร่ เหลือแต่ อบจ.พิษณุโลก กับมหาวิทยาลัยนเรศวร

       อบจ.พิษณุโลกขอใช้พื้นที่มากที่สุด 2,466 ไร่ แต่ใช้จริง 185 ไร่ ส่วนมหาวิทยาลัยนเรศวรขอไป 1,000ไร่ ใช้ไปกว่า 300 ไร่

      “โจทย์คือใช้เท่าที่จำเป็น อันไหนไม่ใช้ให้ขอคืนกลับมา เพื่อบริหารจัดการให้เกิดสาธารณะประโยชน์ให้มากที่สุด”ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช.กล่าว ระหว่างลงพื้นที่รับฟังผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล และฟังเสียงประชาชนในพื้นที่

       แนวทางการจัดการ ประกอบด้วย ขุดลอกพื้นที่บึงเฉพาะในส่วนที่เป็นพื้นที่แอ่งน้ำ ให้กักเก็บน้ำได้ 80% ของพื้นที่ โดยเพิ่มความจุจาก 2.61 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 16.85 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะขุดลอก ปรับปรุงคลองสมอแขด้านเหนือและท้ายน้ำ ระยะทางกว่า 12 กิโลเมตร,ปรับปรุงฝายน้ำล้นด้านข้างประตูน้ำของโครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาแควน้อย ขุดลอก ปรับปรุงคลองวงพาดด้านเหนือน้ำ พร้อมอาคารรับน้ำ ระยะทาง 2.44 กิโลเมตร ,ปรับปรุงคลองระบายน้ำ 1 ซ้าย ถึงคลองระบายซ้าย 7 ระยะทาง 1.90 กิโลเมตร,ขุดคลองใหม่เชื่อมกับแม่น้ำวังทอง ระยะทาง 1.10 กิโลเมตร พร้อมอาคารรับน้ำ

       “การปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในพื้นที่บึงจะไม่มีการออกแบบก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างใดๆ เพิ่มเติม แต่จะปรับปรุงอาคารเดิมที่มีอยู่ให้เหมาะสม สอดคล้องกับการปรับปรุงภูมิทัศน์ที่ออกแบบใหม่เพื่อให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพต่อไป”ดร.สมเกียรติ กล่าว

       ส่วนหน่วยงานที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลหลังการฟื้นฟูนั้น จากข้อเสนอในเวทีรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคมให้ดำเนินการในรูปคณะกรรมการ มีส่วนราชการทั้งส่วนกลาง ระดับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการ มี สทนช.เป็นหน่วยงานกำกับและให้การสนับสนุนด้านวิชาการ

       “ภายในเดือนกันยายนนี้ สทนช.จะประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเคลียร์ทุกอย่างให้จบ และใช้เป็นแผนหลักในการฟื้นฟูบึงราชนกต่อไป”เลขาธิการ สทนช. กล่าว

       บึงราชนก จะเป็นโครงการนำร่องในการฟื้นฟูครบวงจรสำหรับการฟื้นฟูบึงขนาดใหญ่อื่นๆด้วย ซึ่งมีสภาพปัญหาคล้ายๆกัน ทำให้เสื่อมสภาพการเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ช่วยลดปัญหาน้ำท่วมและมีน้ำใช้ในฤดูแล้ง หรือพื้นที่ชุ่มน้ำมีความหลากหลายทางชีวภาพ