เร่งส่งเสริมข้าวอินทรีย์ป้อนตลาดจีน ขานรับกระแสรักสุขภาพ

         ภายหลังเป็นประธานประชุมคณะทำงานโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร ครั้งที่ 3/2561 นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมการข้าวได้รายงานผลของการไปศึกษาโครงการความร่วมมือการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตข้าวอินทรีย์ตามระบบมาตรฐานของจีนเพื่อการส่งออกที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
    ทั้งนี้ได้มีการเข้าพบ ศ.ดร.หยิน ชาง ปิน ผู้อำนวยการใหญ่สถาบันทรัพยากรทางการเกษตรและการวางแผนระดับภูมิภาค ภายใต้สถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และ นายถัง เริ่น ผู้เชี่ยวชาญการรับรองและตรวจสอบมาตรฐานอินทรีย์แห่งศูนย์พัฒนาอาหารอินทรีย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อหารือความร่วมมือและศึกษาเทคโนโลยีการผลิตข้าวอินทรีย์ของประเทศจีนในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัย การพัฒนาการผลิตข้าว การตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของจีน และกระบวนการส่งออกข้าวไทยไปประเทศจีนนำมาซึ่งการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทยให้ได้มาตรฐานและข้อกำหนดด้านการผลิตข้าวอินทรีย์ให้ได้รับการพัฒนาเทียบเคียงมาตรฐานของประเทศจีน สามารถตอบโจทย์มาตรฐานและความต้องการข้าวอินทรีย์ของผู้บริโภคจีนได้ในอนาคต


         นายลักษณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับข้าวหอมมะลิของไทยเป็นสินค้าข้าวพรีเมี่ยมที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากชาวจีน เนื่องจากเป็นข้าวที่มีกลิ่นหอมเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร โดยสถิติตัวเลขการค้าช่วงปี 2560 ไทยมีการส่งออกข้าวหอมมะลิไปตลาดโลกมีมูลค่าเกือบ 42,000 ล้านบาท มีตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 28% จีน 15% และฮ่องกง 11% แม้ว่าจีนจะเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของโลก แต่ยังไม่เพียงพอความต้องการ ขณะนี้ราคาข้าวหอมมะลิมีแนวโน้มดีขึ้นสามารถปรับตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตันละ 1,250 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าราคาส่งออกปี 2551 ที่มีราคาส่งออกเฉลี่ยตันละ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ
         อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันข้าวที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่ผลิตแบบใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี ขณะที่ข้าวอินทรีย์มีปริมาณส่งออกน้อยมากสวนทางกับกระแสผู้บริโภคที่รักสุขภาพและที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในประเทศจีนยังคงมีโอกาสขยายได้อีก แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องการจัดสรรโควตาและต้องผ่านการตรวจสอบสินค้าอินทรีย์มาตรฐานคุณภาพแบบทัดเทียมตามเกณฑ์มาตรฐานของสหภาพยุโรป จาก China Organic Food Development Center (OFDC)ดังนั้นเมื่อทราบปริมาณความต้องการและมาตรฐานของจีนแล้ว ก็จะสามารถเข้าไปส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ของไทยที่กำลังดำเนินอยู่ให้ได้รับการพัฒนาเทียบเคียงมาตรฐานของประเทศจีน เพื่อตอบสนองความต้องการข้าวอินทรีย์ของผู้บริโภคจีนต่อไป