พลังการมีส่วนร่วมชุมชน : แก้ปัญหาน้ำชาว "ทุ่งมหาเจริญ"
  • 21 กันยายน 2018 at 10:56
  • 2208
  • 0

 

       ทุ่งมหาเจริญ เป็นชื่อตำบลหนึ่งของอำเภอวังน้ำเย็น จ.สระแก้ว

        คนส่วนใหญ่รู้จัก อ.วังน้ำเย็น น้อยคนนักรู้จัก ต.ทุ่งมหาเจริญ ซึ่งเดิมทีชื่อ ต.ทุ่งมหาวิบาก มาก่อน

        มหาวิบาก เพราะทุรกันดารทุกอย่าง เคยเป็นพื้นที่ป่าใหญ่ แล้วมีคนเข้ามาบุกรุกแผ้วถาง กระทั่งมีสัมปทานทำไม้ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ป่าใหญ่หดหายกลายเป็นท้องทุ่ง ไร่นา  และชุมชน ในขณะผู้คนแสวงหาที่ดินทำกินใหม่กลับเพิ่มมากขึ้น จากมหาวิบากก็ค่อยๆ เจริญขึ้น ทั้งถนนหนทาง การพัฒนาแหล่งน้ำ ฯลฯ สวนทางกับสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลายลงเรื่อยๆ และการพัฒนาเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง

        ครัวเรือนในทุ่งมหาเจริญจาก 200 กว่าครอบครัว ขยายเป็น 400 กว่าครอบครัว การเพาะปลูกจากเดิมเป็นพืชไร่กลายเป็นไม้ยืนต้นอย่างลำไยและมะม่วงหนาตา ความต้องการน้ำมากกว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ที่น้อยลงจากสภาพภูมิอากาศส่วนหนึ่งและการพัฒนาที่ผิดพลาดส่วนหนึ่ง เช่น การขุดคูกั้นช้างไม่ให้เข้าที่ทำกิน ปรากฏว่าไปเปลี่ยนเส้นทางน้ำไหล น้ำไม่ไหลลงอ่างเขาตะกรุบ จากเดิมที่เคยเก็บได้เต็มความจุ 6.6 แสนลูกบาศก์เมตร หายไปกว่า 2 แสนลูกบาศก์เมตร

        เป็นความเดือดร้อนที่เห็นๆกัน แม้ใช้วิธีการขุดบ่อบาดาลก็แก้ปัญหาเฉพาะจุด ความขัดแย้งเรื่องน้ำยังคงขยายวงไปเรื่อย

        นายสมบัติ เจิมขุนทด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 13  ต.ทุ่งมหาเจริญ เล่าการเปลี่ยนแปลงของทุ่งมหาเจริญเป็นฉากๆ ข้อมูลเหล่านี้มาจากการทำประวัติศาสตร์ชุมชนของชาวบ้านนับแต่รุ่นผู้เฒ่าจนถึงรุ่นปัจจุบัน โดยการขับเคลื่อนของคณะทำงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐลุ่มน้ำย่อยคลองกัดตะนาวใหญ่ตอนล่าง (คปร.) ซึ่งโครงการชลประทานสระแก้ว และกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน นำกระบวนการมีส่วนร่วมฯ ในการบริหารจัดการลุ่มน้ำย่อยแห่งนี้

        แทบไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า ชั่วเวลา 2 ปี  คปร. ซึ่งเป็นเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่สามารถพัฒนาจนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตัวเอง และลงทุนเดินสำรวจพื้นที่ตำบลแทบทุกตารางนิ้วจนถึงแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญ คืออ่างเก็บน้ำเขาตะกรุบ แล้วเขียนขึ้นมาเป็นแผนที่ทำมือหรือแผนที่มีชีวิต ให้ทุกคนได้เห็นภาพรวมของชุมชน จุดสำคัญๆ เมื่อบวกกับประวัติศาสตร์ชุมชน ภาพของชุมชนทุ่งมหาเจริญก็กระจ่างชัดในสายตาของคนทุ่งมหาเจริญ และส่งผลต่อการขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างมีนัยสำคัญ

       ผู้ใหญ่สมบัติ ในอีกสถานะหนึ่งคือประธาน คปร. ยังสะท้อนความรู้สึกในใจ เมื่อครั้งโครงการชลประทานสระแก้วเข้ามาประชุมในพื้นที่เมื่อ 2 ปีก่อนว่า คงเข้ามาเพื่อเอาน้ำมาให้ เพราะชุมชนแห่งนี้ขาดแคลนน้ำ แม้มีอ่างเก็บน้ำเขาตะกรุบความจุ 6.6 แสนลูกบาศก์เมตร แต่เมื่อชุมชนหันมาปลูกลำไย มะม่วง อย่างเป็นล่ำเป็นสัน น้ำก็ไม่พอ

       แท้จริง กรมชลประทานไม่ได้เอาน้ำมาให้เหมือนเก่า  แต่นำเอากระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้ามาทดลองใช้ในลุ่มน้ำคลองกัดตะนาวใหญ่ตอนล่าง โดยที่ผู้ใหญ่สมบัติและลูกบ้านไม่เคยล่วงรู้มาก่อน แม้จะเข้าร่วมกระบวนการมีส่วนร่วมฯ แต่ทุกคนก็ยังงงๆ กับวิธีการใหม่ที่ไม่เคยประสบมาก่อน

      แต่ทุกอย่างคือการหลอมความรู้สึกให้เป็นหนึ่งเดียวกันและเรียนรู้ปัญหาตัวเอง แล้วหาทางแก้ไขด้วยตัวเอง เกินกว่ากำลังตัวเองค่อยขอรับการสนับสนุนจากราชการ

      “เราใช้หลักอริยสัจ 4 เข้ามาประยุกต์ ตั้งคำถามจากความทุกข์เรื่องน้ำ วิธีการแก้ปัญหา แล้วค่อยกลับมาที่เหตุใดที่ทุกข์ ทำให้ทุกคนค้นหาความจริง อย่างเช่น อ่างเก็บน้ำเขาตะกรุบ เขาก็ว่าเป็นของกรมชลประทาน เราก็ว่ากรมชลประทานสร้างให้ ชุมชนก็ควรดูแลรักษา ไม่ใช่ทิ้งปล่อยให้หญ้าและต้นไม้ขึ้นรกรุงรัง เป็นเหตุให้กีดขวางทางน้ำหรือดูไม่สวยงาม”นายณัฐวุฒิ สร้อยประเสริฐ นายช่างชลประทานอาวุโส โครงการชลประทานสระแก้ว ผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงนำกระบวนการมีส่วนร่วมฯ ลงสู่พื้นที่คลองกัดตะนาวใหญ่ตอนล่างกล่าว

        กระบวนการมีส่วนร่วมฯ  ทำให้ชาวบ้านทะลุการเรียนรู้งานชลประทานได้อย่างไม่ยากเย็น ไม่ว่าการคำนวณปริมาณน้ำในลำน้ำ ความต้องการน้ำของพืชและครัวเรือน ปริมาณตะกอนดินที่จะขุดลอก   กระทั่งศัพท์แสงเทคนิค อย่างสปิลเวย์ (Spillway) หรืออาคารระบายน้ำล้น เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้ชุมชนและยกระดับสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาลุ่มน้ำด้วยตัวเองภายในเวลา 2 ปี (2560-2561) สรุปปิดท้ายด้วยวิธีแก้ไขปัญหาน้ำในลุ่มน้ำด้วยแผนงาน 4 โครงการ งบประมาณรวม 50 ล้านบาท

        4 โครงการประกอบด้วย ขุดลอกอ่างเก็บน้ำเขาตะกรุบและขุดลอกคลองด้านท้ายอาคารสปิลเวย์ 11.0 ล้านบาท แก้มลิงบ้านคลองพัฒนา 23.0 ล้านบาท  ปรับปรุงซ่อมแซมท่อส่งน้ำภายในหมู่บ้านหมู่ที่ 13 จำนวน 14.0 ล้านบาท และวางท่อระบายน้ำ 7 แห่ง 2.0 ล้านบาท 

       “ช่วงเวลา 2 ปี นอกจากจัดเวทีประชุมย่อย ประชุมใหญ่ พูดคุยหาข้อมูล จัดทำแนวทางแล้ว ยังมีกระบวนการคืนข้อมูล โดยการนำเอาข้อมูลนั้นให้ชุมชนได้พิจารณาถกเถียงลงมติอีกครั้ง ก่อนสรุปเป็นแผนงาน 50 ล้านบาท ด้วยความคิดอ่านของชุมชนทุ่งมหาเจริญเอง” นายณัฐวุฒิกล่าว

       ที่สำคัญ แผนงาน 4 โครงการ ได้นำเสนอบรรจุเป็นโครงการของจังหวัดสระแก้วและได้รับงบประมาณดำเนินการในปี 2562 เหลือเชื่อและเหนือความคาดหมายจริงๆ 

       สำหรับชาวทุ่งมหาเจริญแล้ว ย่อมหมายถึงกำลังใจขับเคลื่อนการพัฒนาลุ่มน้ำด้วยชุมชนอย่างมุ่งมั่นเข้มแข็งต่อไป

       นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ปี 2561-2562 ได้ขยายผลการมีส่วนร่วมไปยังพื้นที่ลุ่มน้ำกัดตะนาวใหญ่ตอนบนและตอนกลาง อีกทั้งได้ขยายผลไปยังพื้นที่ อ.เมือง จ.สระแก้ว ในปี 2563 โดยลดทอนระยะเวลาจาก 24 เดือน เหลือเพียง 12 เดือน ภายใต้ 11 ขั้นตอนการมีส่วนร่วม 

       ทางด้าน นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นแนวทางสำคัญที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาในอนาคต ซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ อีกทั้งเป็นการพัฒนาสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง เพราะประชาชนเรียนรู้ปัญหาตัวเองและหาทางแก้ไขด้วยตัวเอง โดยมีกรมชลประทานคอยเป็นพี่เลี้ยงในแง่เทคนิคและอำนวยการ 

       “การพัฒนาลุ่มน้ำคลองกัดตะนาวใหญ่ตอนล่าง เป็นรูปธรรมความสำเร็จและจะยั่งยืนต่อไป เพราะเกษตรกรรู้สึกเป็นเจ้าของแหล่งน้ำ และมีความเกื้อกูลระหว่างกัน เป็นการพัฒนาที่เกิดจากข้างล่างขึ้นไปข้างบนและเป็นการระเบิดจากภายใน ต่างจากแนวทางการพัฒนาเดิมที่เกิดจากข้างบนลงสู่ข้างล่างฝ่ายเดียว โดยข้างล่างไม่มีส่วนรับรู้ ทำให้ความยั่งยืนไม่เกิด” นายสุจินต์กล่าว