ความสำเร็จอ่างเก็บน้ำดอยงู

ความสำเร็จอ่างเก็บน้ำดอยงู
โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

         อ่างเก็บน้ำดอยงู อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ความจุเพียงกว่า 7.3 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนเหมือนแผ่นดินไหวเล็กๆ ในการบริหารจัดการน้ำไปทั่วประเทศ
         การได้รับรางวัลดีเด่นจากการประกวดรางวัลเลิศรัฐของสำนักงานพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) เป็นการขยายภาพความสำเร็จในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ภายใต้ความพยายามของกรมชลประทานในการบริหารจัดการน้ำแนวใหม่ที่ปล่อยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง โดยกรมชลประทานถอยออกมาเป็นที่ปรึกษาแทนการเป็นผู้กำหนดฝ่ายเดียวอย่างเดิม

         นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน เล่าว่า การแก้ไขปัญหานี้ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4-5 ปี โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมเป็นกลไกขับเคลื่อนลงสู่พื้นที่ และดำเนินการทุกขั้นตอนร่วมกับประชาชนในการสืบค้นข้อมูลปัญหาที่แท้จริงในพื้นที่ และแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ผลสำเร็จจากการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมโครงการอ่างเก็บน้ำดอยงู จะเป็นแม่แบบนำร่องไปสู่พื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่อื่นๆ ได้
         "บริบททางสังคมอาจแตกต่างกันไปบ้าง แต่พื้นฐานของปัญหาเหมือนกันแทบทุกแห่งคือการขาดแคลนน้ำหรือน้ำท่วม การทะเลาะแย่งน้ำระหว่างกัน ความไม่เป็นธรรมในการใช้น้ำ"
         ในขณะที่ นายไพโรจน์ แอบยิ้ม พนักงานการเกษตรชำนาญงาน ฝ่ายจัดสรรน้ำ โครงการชลประทานเชียงราย กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำดอยงูก่อสร้างปิดกั้นลำน้ำแม่เจดีย์ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาลำน้ำแม่ลาว ท้ายอ่างเก็บน้ำดอยงูมีฝายชุ่มเมืองเย็น พอไหลไปสมทบแม่น้ำแม่ลาวก็มีฝายทำน้ำอีก 3 ฝาย ประกอบด้วย ฝายหนองหอย ฝายพ่อขุน และฝายโป่งนก ตามลำดับ
         การบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมา ใครอยู่ต้นน้ำคนนั้นได้น้ำเต็มที่อย่างฝายชุ่มเมืองเย็น กลางน้ำอย่างฝายหนองหอย ฝายพ่อขุนพอได้น้ำบ้าง แต่ก็มีปัญหาแย่งน้ำกัน ส่วนปลายน้ำอย่างฝายโป่งนกไม่ได้รับน้ำมา ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา จนต้องร้องเรียนปัญหานี้ขึ้นมา และเป็นจุดเริ่มต้นที่โครงการชลประทานเชียงรายเข้ามาแก้ไขปัญหา โดยนำเอากระบวนการมีส่วนร่วมเข้าคลี่คลายปัญหา

         การจัดสรรน้ำจากอ่างดอยงูในฤดูแล้ง เพื่อให้ทุกพื้นที่ได้รับน้ำ เป็นแรงสั่นสะเทือนให้เกิดการหวงน้ำ โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ฝายหนองหอยและฝายพ่อขุนที่ไม่ต้องการให้ส่งน้ำไปให้ฝายโป่งนก เพราะลำพังที่เป็นอยู่น้ำก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว
         โดยเข้าไปเริ่มกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่ปี 2558-2559 ผ่านเครือข่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน (คสป.) ซึ่งประกอบด้วยประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งกรมชลประทาน และเริ่มจัดเวทีการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนในปี 2560 จำนวน 30 ครั้ง
         "เป็นการทำเวทีอย่างเข้มข้น ปี 2561 ก็ยังคงทำต่อเนื่องอีก 20 ครั้ง ผลคือชาวบ้านเข้าใจสภาพปัญหา และมีความเห็นอกเห็นใจคนที่ขาดแคลนน้ำ อ่างเก็บน้ำดอยงูไม่ใช้เฉพาะพื้นที่ดอยงูเท่านั้น หากยังแบ่งปันถึงฝายในแม่น้ำแม่ลาวอีก 3 ฝายที่จะได้รับน้ำร่วมกัน เป็นอ่างดอยงูของอำเภอเวียงป่าเป้า" นายไพโรจน์กล่าว

         ความสำเร็จเชิงรูปธรรมเห็นได้จากช่วงฤดูแล้ง น้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำดอยงูจะส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้ราว 5,700 ไร่ แต่ปี 2561 สามารถส่งให้พื้นที่ชลประทานได้ถึง 11,977 ไร่ เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ใกล้เคียงกับพื้นที่ชลประทานในฤดูฝน ด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ประการ
         อย่างแรก การจัดรอบเวรส่งน้ำ โดยมีกฎกติกาที่ชัดเจน ทำให้น้ำสามารถไปถึงจุดหมายได้ตามข้อตกลง อย่างที่สอง การปรับเปลี่ยนการผลิตข้าว ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมใช้น้ำ 1,400-1,500 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ เหลือ 800 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ โดยใช้วิธีเปียกสลับแห้ง แกล้งข้าว นอกจากลดการใช้น้ำแล้ว ยังทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จากไร่ละ 700-800 กิโลกรัม เป็น 1,000-1,200 กิโลกรัม/ไร่
         นายไพโรจน์กล่าวว่า กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทำให้สามารถแก้ไขปัญหาน้ำข้ามลุ่มน้ำย่อยได้ โดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่เท่าเดิมคืออ่างเก็บน้ำดอยงู ซึ่งส่งผลให้กรมชลประทานเองไม่ต้องขยายการพัฒนาแหล่งน้ำโดยไม่จำเป็น ทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่กับกระบวนการทางวิศวกรรมชลประทานเดินควบคู่ด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด