จัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่จังหวัดลำปาง ในความสำเร็จย่อมมีชุมชนร่วมด้วย

จัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่จังหวัดลำปาง
ในความสำเร็จย่อมมีชุมชนร่วมด้วย
โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล


         การมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการที่กรมชลประทานดำเนินการนั้น ดูเหมือนจะแยกขาดออกจากกันไม่ได้เลย มีงานก่อสร้างที่ไหน ก็ต้องมีชุมชนร่วมด้วยที่นั่น
         งานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมภายใต้สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทานนั้น ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหม่เป็นสำนักจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม 35 สำนัก แต่ละสำนักงานรับผิดชอบตั้งแต่จังหวัดเดียวหรือมากกว่า ทำให้สามารถกระจายงานและดูแลรับผิดชอบอย่างครอบคลุมและทั่วถึงทั้งประเทศแทนโครงสร้างเดิมที่มีสำนักงานจัดรูปที่ดินเพียง 27 จังหวัดและสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดไหนก็รับผิดชอบเฉพาะจังหวัดนั้นไป
         สำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม ชื่อบ่งชี้ชัดเจนว่า รับผิดชอบทั้งงานจัดรูปที่ดินและงานจัดระบบน้ำในหน่วยงานเดียวกัน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่
         ตามโครงสร้างใหม่เมื่อปลายปี 2560 สำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมที่ 2 รับผิดชอบพื้นที่ จ.ลำปางและ จ.พะเยา
         นายเฉลิมวุฒิ คำฟูบุตร วิศวกรชลประทานปฏิบัติการ สำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมที่ 2 เล่าถึงการดำเนินงานของสำนักงานฯ ในส่วน จ.ลำปางว่า ในปีงบประมาณ 2561 นี้มีเฉพาะงานจัดระบบน้ำฯ ดำเนินการทั้งหมด 3 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์รวม 4,705 ไร่ ประกอบด้วย งานจัดระบบน้ำโครงการฝายสบนึง (ระยะที่ 2) อ.เมืองปาน จำนวน 2,000 ไร่ งานจัดระบบน้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา อ.แจ้ห่ม 1,500 ไร่ และงานจัดระบบน้ำโครงการอ่างเก็บน้ำแม่พริก อ.แม่พริก 1,205 ไร่
         เป็นการดำเนินการบนพื้นฐานกฎหมายฉบับใหม่คือ พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2558 ที่ส่วนใหญ่ราษฎรให้ความร่วมมือ เพราะเกษตรกรมีความต้องการ รวมทั้งเห็นถึงประโยชน์และความคุ้มค่าตามวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างงานจัดระบบน้ำ อีกทั้งยังสร้างโอกาสในการเพิ่มผลผลิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตในดียิ่งขึ้น

         "เราต้องประกาศเขตงานจัดระบบน้ำในพื้นที่ที่ทำการก่อสร้าง ประชุมชี้แจงต่อเกษตรกรก่อนดำเนินการก่อสร้าง จัดตั้งคณะกรรมการจัดระบบน้ำชุมชน และบันทึกความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรของเจ้าของแปลงกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ที่ทำการก่อสร้าง เพื่อการดำเนินงานก่อสร้างในพื้นที่อย่างถูกกฎหมาย รวมถึงค่าใช้จ่ายในงานก่อสร้างที่ต้องเก็บจากเกษตรกรเมื่อทำการก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่เราไม่ได้พูดถึงค่าใช้จ่ายงานจัดระบบน้ำที่เกษตรกรต้องเสีย 10% ของค่าก่อสร้างต่อไร่ตามที่ระบุใน พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2558 เพียงอย่างเดียว แต่เราพูดถึงสิ่งที่เขาจะได้รับจากเราด้วย นอกเหนือจากประโยชน์ที่เกิดขึ้นหลังจากงานก่อสร้างแล้วเสร็จ คือการสร้างโอกาสต่างๆ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ตลอดการทำงานของเรา โดยเริ่มตั้งแต่ก่อนดำเนินการก่อสร้าง เราได้สร้างเสริมโอกาสในการใช้พื้นที่ของเกษตรกรให้เกิดประโยชน์หลากหลาย จากพื้นที่ว่างเปล่า สามารถทำการเพาะปลูกได้เพราะมีระบบแพร่กระจายน้ำที่มีประสิทธิภาพแล้ว ส่วนระหว่างการดำเนินงานก่อสร้าง เราได้สร้างโอกาสในการสร้างรายได้ในกับเกษตรกรในพื้นที่โดยการรับเกษตรกรที่มีความประสงค์จะทำงานร่วมกับหน่วยก่อสร้างของเรา เข้ามาทำงานตามความรู้ความสามารถในแต่ละด้าน ซึ่งงานก่อสร้างงานจัดระบบน้ำไม่ได้มีโครงสร้างที่ซับซ้อนมากนัก เขาสามารถมาเรียนรู้และฝึกฝนจากหน่วยก่อสร้างของเราได้ และเป็นทักษะติดตัวเขาไป สร้างงาน สร้างอาชีพในอนาคตให้เกษตรกรได้ด้วย และยังสร้างโอกาสในการมีส่วนรวมและการติดตามผลการดำเนินงานก่อสร้างของเราไปด้วย และสุดท้ายคือหลังดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเราได้สร้างโอกาสให้เกษตรกรได้วางแผนการเพาะปลูก หรือสามารถปลูกผลผลิตอื่นเพิ่มเติม เพราะเมื่อมีระบบแพร่น้ำกระจายน้ำที่ดีแล้ว ต้องมีการวางแผนการเพาะปลูกที่เหมาะสมด้วย"
         เดิมทีการจัดระบบน้ำแบบเดิมหรือคันคูน้ำ เกษตรกรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย แต่การจัดระบบน้ำใหม่ต้องเสียค่าใช่จ่ายในการก่อสร้าง 10% ของค่าก่อสร้างต่อไร่นั้น แม้จะต้องจ่าย แต่โดยกระบวนการแล้ว เกษตรกรยังมีส่วนที่จะได้ลดหย่อนและหักล้างจากราคาประเมินที่ดินที่สูญเสียไปจากการก่อสร้างในแต่ละแปลงรวมถึงค่าชดเชยและรายได้จากค่าแรงในกรณีที่เข้ามาร่วมทำงาน ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไป
         "เราจะรับแรงงานในพื้นที่โครงการก่อสร้างแต่ละโครงการเป็นหลักก่อน ถ้าแรงงานยังไม่เพียงพอก็หาจากพื้นที่ใกล้เคียงหรือจากพื้นที่อื่นๆ เป็นการแสดงให้เห็นว่า เราให้ความสำคัญกับคนในท้องถิ่นมาเป็นอันดับหนึ่ง"
         การได้แรงงานจากท้องถิ่นโดยตรง ทำให้เกษตรกรได้เห็นความตั้งใจของสำนักงานจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำฯ และก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดี อยากร่วมมือสนับสนุนทุกทาง ทำให้การก่อสร้างเป็นไปด้วยความรวดเร็ว
         "เราต้องการให้เขาทำงานกับเรา เห็นว่าเราทำอะไรและมีส่วนร่วมไปกับเราด้วย คือ การได้ร่วมงานกับเกษตรกรในท้องถิ่น ทำให้เกษตรกรได้เห็นความตั้งใจและติดตามผลในการก่อสร้างงานจัดระบบน้ำ อีกทั้งยังก่อให้เกิดความประทับใจและเห็นถึงคุณค่า ,หวงแหนสิ่งที่ตนเองมีส่วนรวม และช่วยกันบำรุงรักษาเพราะเกิดประโยชน์กับเกษตรกรโดยตรง และเป็นการรักษาผลประโยชน์ของตนเองไว้ จึงเป็นแรงผลักดันให้เกิดความร่วมมือและสนับสนุนในทุกๆ ด้าน ทำให้การก่อสร้างเป็นไปด้วยดีและสำเร็จได้โดยเร็ว" นายเฉลิมวุฒิ กล่าว
         พร้อมทั้งเล่าว่า งานก่อสร้างที่แล้วเสร็จไป 80% แล้วอีก 20% ย่างเข้าฤดูฝนมีสภาพการทำงานที่ยากลำบาก แต่เกษตรกรก็ช่วยกันเต็มความสามารถจนจบโครงการได้ทัน เกษตรกรเองก็สามารถใช้ประโยชน์จากงานก่อสร้างได้เร็วตามไปด้วย

         "เขาให้ความร่วมมือดีมาก ไม่ว่าสภาพอากาศเป็นอย่างไร เช่น ในช่วงก่อสร้างจะไม่เพาะปลูกเลย หรือเพาะปลูกโดยเว้นพื้นที่ให้เราทำการก่อสร้าง อำนวยความสะดวกให้เราเข้าไปทำงานก่อสร้างได้ ถือเป็นน้ำใจและความเมตตาจากเกษตรกรที่ดียิ่ง และเราจะตอบแทนเขาด้วยผลงานที่มีคุณภาพ จะไม่ทิ้งปัญหาไว้ แต่จะเก็บความประทับใจนี้ไว้เป็นกำลังใจในการทำงานครั้งต่อไป"
         สำหรับปีงบประมาณ 2562 ขณะนี้เตรียมความพร้อมและการประชาสัมพันธ์ในท้องถิ่นงานจัดระบบน้ำในพื้นที่ จ.ลำปางไว้ 3 โครงการพื้นที่รับประโยชน์รวม 4,610 ไร่ ประกอบด้วยงานจัดระบบน้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา (ระยะที่ 2) อ. แจ้ห่ม จำนวน 1,110 ไร่ งานจัดระบบน้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่วังฝั่งซ้าย (แม่ปุง) อ.เกาะคา จำนวน 1,500 ไร่ และงานจัดระบบน้ำโครงการฝายประสบสุข อ.แจ้ห่ม จำนวน 2,000 ไร่
         ส่วนพื้นที่ จ.พะเยาในความรับผิดชอบอีกจังหวัดหนึ่งนั้น นายเฉลิมวุฒิกล่าวว่า ได้มีการวางแผนการสำรวจและออกแบบเพื่อดำเนินการก่อสร้างและจะค่อยๆ เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์จากการก่อสร้างงานจัดระบบน้ำให้ครอบคลุมในเขตรับผิดชอบทั้ง 2 จังหวัด
         การอาศัยคนในท้องถิ่นเข้าร่วมกระบวนการพัฒนาโครงการไปด้วย ว่าไปแล้วเป็นกลยุทธ์พื้นๆ แต่ในอีกด้านหนึ่ง กลับจะเปล่งศักยภาพช่วยให้การขับเคลื่อนงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ราบรื่น และเป็นกำลังสนับสนุนที่ดีเยี่ยม โดยมีข้อแม้ว่า การทำงานนั้นมุ่งหวังให้ชุมชนได้รับประโยชน์อย่างจริงจัง ชุมชนก็จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการขับเคลื่อนโครงการ ต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ร่วมกัน
         กรมชลประทานทำงานก่อสร้างแล้วเสร็จตามเป้าหมาย ชุมชนได้รับน้ำทำกินได้อย่างมั่นคง